กองทุนดังกล่าวนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เงินฝากธนาคาร China Construction Bank (สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 20% เงินฝากธนาคาร Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน สาขามาเก๊า) สัดส่วนการลงทุน 20% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China (Asia) (สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 20% ตราสารหนี้ EMTN ออกโดยธนาคาร Agricultural Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน, ฮ่องกง) สัดส่วนการลงทุน 20% ตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดยธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 7% ตราสารหนี้ระยะสั้นออกโดยธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 7% และตั๋วแลกเงินออกโดยบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการลงทุน 6%
ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการขายคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติประมาณ 2.45% ต่อปี และหลังครบกำหนดอายุโครงการบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนเปิดกรุงศรีตราสารเงิน (KFCASH) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตลาดเงินเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนต่อไป
กองทุนเปิดกรุงศรีตราสารหนี้ 6M120(KFFIX6M120) เป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและต้องการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและต้องการล็อคผลตอบแทน โดยสามารถลงทุนได้เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน
สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้โลกนั้น อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือนเนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ของยุโรปลดลง โดยเส้นอัตราผลตอบแทนปรับลดลงร้อยละ 0.00 – 0.10 ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของยุโรปเพิ่มขึ้นสู่ 100.8 จาก 100.7
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศแผนที่จะจัดตั้งกองทุนมูลค่า 2.1 หมื่นล้านยูโร เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการจ้างงานและปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของยุโรปในระยะยาว คาดว่ากองทุนนี้จะถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงกลางปีหน้า และต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลแต่ละประเทศและสภายุโรป ทางด้านญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นในเดือนตุลาคม ส่วนทางด้านกลุ่มโอเปกมีมติคงเพดานการผลิตน้ำมันไว้ดังเดิม ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลง และจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลก