ทริส คงอันดับเครดิตองค์กร CGS ที่“BBB-"แนวโน้ม Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 4, 2014 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บล. คันทรี่ กรุ๊ป(CGS)ที่ระดับ “BBB-" โดยแนวโน้มยังคง “Negative" หรือ “ลบ"

ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงพื้นฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทและรายได้ประจำที่ค่อนข้างสม่ำเสมอจากเงินลงทุนใน บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC)

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญเมื่อปลายปีที่แล้ว ตลอดจนประวัติผลงานที่ยังไม่ยาวนานเพียงพอของคณะผู้บริหารชุดปัจจุบัน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากลักษณะที่ผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายหลังการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2555 ด้วย

ขณะที่ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดและกิจกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทยังมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงสถานภาพทางการตลาดที่ถดถอยลงของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของขอบเขตการดำเนินธุรกิจของบริษัทและทิศทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทลงทุนภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจด้วย

CGS เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2509 ภายใต้ชื่อเดิมคือ บริษัท แอ๊ดคินซัน เอ็นเตอร์ไปรส์ จำกัด ผู้ถือหุ้นของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดในปี 2549 โดยตระกูลเตชะอุบลได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนตระกูลคิ้วคชา ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 ตระกูลเตชะอุบลถือหุ้นในสัดส่วน 18.3% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท

บริษัทเปลี่ยนคณะผู้บริหารเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งทางธุรกิจตลอดจนผลประกอบการของบริษัทเนื่องจากบริษัทสูญเสียพนักงานและลูกค้าไปพร้อมกับคณะผู้บริหารดังกล่าว ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของ บริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.1% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 (อยู่ในอันดับที่ 12 ของอุตสาหกรรม) จากที่เคยสูงถึง 5%-6% (อยู่ใน 5 อันดับแรกของอุตสาหกรรม) ก่อนการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหาร การลดลงของส่วนแบ่งทางการตลาดจะยังไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทในทันที

ทั้งนี้ เนื่องจากอันดับเครดิตที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ได้พิจารณาถึงความไม่แน่นอนที่บริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเอาไว้ได้ด้วยแล้ว อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่คณะผู้บริหารชุดใหม่ไม่สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของบริษัทเอาไว้ได้ หรือไม่สามารถรักษาผลประกอบการให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อรายได้สุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 21% ในปี 2556 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 39% ส่วนแบ่งทางการตลาดและมูลค่าการซื้อขายที่ลดลงของบริษัททำให้อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อรายได้สุทธิของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ลดลงมาอยู่ที่ 15% บริษัทรายงานกำไรสุทธิจำนวน 122 ล้านบาทสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2557 จากที่ระดับ 380 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2556 การที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงอาจทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันมากกว่าคู่แข่งได้

บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์อยู่บ้างจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัททั้งในส่วนของการเก็งกำไรรายวันและการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว ในด้านความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้นบริษัทมียอดการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์คงค้างจำนวน 574 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 ซึ่งคิดเป็น 18% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท และคิดเป็น 1% ของการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรม

ในเดือนเมษายน 2557 ผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมติเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างกิจการโดยจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งภายใต้ชื่อ “บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)" เพื่อประกอบธุรกิจด้านลงทุนและถือหุ้นของบริษัท บริษัทลงทุนแห่งใหม่ที่ได้รับการจัดตั้งจะทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทโดยการแลกเปลี่ยนกับหุ้นของบริษัทลงทุน หากการทำคำเสนอซื้อสำเร็จผล บริษัทจะทำการโอนธุรกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจการลงทุนไปยังบริษัทลงทุน โดยเงินลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซีก็จะถูกโอนไปยังบริษัทลงทุนด้วย ภายหลังจากการปรับโครงสร้างกิจการ บริษัทจะดำเนินกิจการเฉพาะธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์รวมทั้งธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ในมุมมองของทริสเรทติ้ง กำไรจากเงินลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซีถือเป็นรายได้ประจำที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแหล่งหนึ่งจากธุรกิจจัดการกองทุนของบริษัท โดยบริษัทถือหุ้น 24.9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ บลจ. เอ็มเอฟซี ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซีมีสัดส่วนคิดเป็น 21% ของกำไรก่อนภาษีของบริษัทในปี 2556 ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง ทำให้กำไรจากเงินลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซีมีความสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัทเป็นอย่างมาก แผนการปรับโครงสร้างกิจการทำให้ขอบเขตการดำเนินธุรกิจที่จำกัดลงของบริษัทนำไปสู่การมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 3,200 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 ซึ่งฐานทุนขนาดใหญ่เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการซื้อขายหลักทรัพย์ และช่วยรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์และความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์จากการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทได้ บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปในระดับที่สูงมาอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ 181% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ 7% ตามที่ทางการกำหนดอยู่มาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ