(เพิ่มเติม) TPCH วางเป้าครองตลาดผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายใหญ่สุดของภาคใต้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 6, 2015 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลรายใหญ่ที่ครอบคลุมจังหวัดภาคใต้ ยกเว้นจ.ภูเก็ต ซึ่งแผนงานเบื้องต้นจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นเป็น 150 เมกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการเติบโตก้าวกระโดดสอดคล้องกัน ขณะที่การปรับสูตรอัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็น Feed in tarrif(FiT) จากระบบ Adder ส่งผลดีต่อกำไรในอนาคตให้สูงขึ้น ซึ่งในที่สุดจะทำให้ P/E ลดลงจากเกือบ 150 เท่า เหลือไม่ถึง 10 เท่า
"จากความเชี่ยวชาญในพื้นที่ภาคใต้ของ TPOLY ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ประกอบกับบริษัทเปิดให้ supplier วัตถุดิบเข้ามาถือหุ้นในโรงไฟฟ้าแต่ละโรง ทำให้เป็นจุดแข็งที่สำคัญ ประกอบกับมีเทคโนโลยีที่สามารถใช้วัตถุดิบหลากหลาย ทั้งเศษไม้ยาง กากปาล์ม และมะพร้าว ช่วยลดความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ เป็นข้อได้เปรียบรายอื่นที่คิดจะเข้ามาแข่ง"นายเชิดศักดิ์ กล่าว

TPCH ระบุว่า เป้าหมายทางธุรกิจที่สำคัญภายในปี 60 ประกอบด้วย 1.มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 100 เมกะวัตต์ 2.มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาวที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์และมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 80 เมกะวัตต์ จากนั้นภายในปี 62 จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ 150 เมกะวัตต์ และ เข้าซื้อกิจการเกี่ยวกับพลังงานทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงไฟฟ้าแห่งแรกใน จ.นครศรีธรรมราช คือ ช้างแรกไบโอเพาเวอร์ กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ ซึ่งแผนงานในปีนี้จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 3 แห่งในปีนี้ คือ โครงการมหาชัย กรีน เพาเวอร์ ที่ จ.สมุทรสาคร, โครงการทุ่งสัง กรีน ที่ จ.นครศรีธรรมราช และ โครงการแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ ที่ จ.นครสวรรค์ ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 10 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นในเฟสต่อไปจะสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง คือ โครงการ พัทลุง กรีน เพาเวอร์ ที่ จ.พัทลุง ขนาด 10 เมกะวัตต์, โครงการ ปัตตานี กรีน ที่ จ.ปัตตานี ขนาด 46 เมกะวัตต์ และ โครงการ สตูล กรีน เพาเวอร์ ที่ จ.สตูล ขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ รวมมีกำลังการผลิตราว 100 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งหมดสามารถเดินเครื่องผลิตได้ 24 ชั่วโมง

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าตามแผนงานทั้ง 6 แห่ง บริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 51% ส่วนที่เหลือเป็น supplier ที่เป็นรายใหญ่ที่สุดในแต่ละพื้นที่ในการจัดหาวัตถุดิบป้อนให้กับโรงไฟฟ้าเข้ามาถือหุ้น ทำให้มีความเข้มแข็งในด้านวัตถุดิบค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ขายได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทตั้งโรงไฟฟ้าใกล้กับแหล่งวัตถุดิบโดยตรง จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านขนส่งที่ปกติวัตถุดิบไม้ยางในพื้นที่ภาคใต้ต้องขนส่งไปรวมกับที่ตลาดใหญ่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ขณะที่การใช้ไม้ยางเป็นวัตถุดิบหลักขณะนี้ ประเมินแล้วว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนเพราะพื้นที่ปลูกยางในภาคใต้ แต่ละปีจะมีการโค่นต้นยางปีละ 3 หมื่นไร่ โดย 1 ไร่จะได้วัตถุดิบประมาณ 30 ตัน ขณะที่โรงไฟฟ้า 1 แห่งขนาด 10 เมกะวัตต์จะใช้ไม้ยางราว 1 แสนตัน/ปี และยังสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นได้ด้วย นอกจากนั้นเทคโนโลยีที่ใช้ยังช่วยลดการใช้ไอน้ำในการผลิตไฟฟ้าลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรสุทธิของบริษัทในอนาคตด้วย

นายเชิดศักดิ์ กล่าวถึงการใช้สูตร FiT ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล จะส่งผลดีต่อการทำกำไรในอนาคตเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะโครงการของบริษัทที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับอัตราพิเศษ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นน่าจะทำให้อัตรากำไรของโรงไฟฟ้าแต่ละโรงเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากรูปแบบ Adder ของเดิมที่มีอัตรากำไรอยู่ที่ 30% โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 70 ล้านหน่วย/ปี จะสร้างกำไรเพิ่มขึ้นมาจาก 70-80 ล้านบาท/ปี

“หลังจากที่โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรก คือ โรงไฟฟ้าช้างแรกที่นครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ มีรายได้ในปี 56 ที่ 180 ล้านบาท และในอนาคตเมื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าให้ได้กำลังการผลิตตามแผน 3 ปี และ 5 ปี แล้วน่าจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง รวมทั้งเป็นการรองรับการเติบโตของธุรกิจพลังงานในอนาคตอีกด้วย” นายเชิดศักดิ์ กล่าว

วัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายธุรกิจ รวมไปถึงการก่อสร้างเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ณ วันที่ 30 ก.ย.57 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 401,200,000 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 401,200,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท และเรียกชำระแล้วจำนวน 310,550,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 310,550,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวน 400,000,000 บาท ซึ่งจะแบ่งเป็นหุ้นสามัญเดิม 310,550,000 หุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 89,450,000 หุ้น โดยมีหุ้นที่รองรับการใช้สิทธิ ESOP ของพนักงานอีกจำนวน 1,200,000 หุ้น

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจหุ้น TPCH ที่กำลังจะเข้าเทรดในตลาด mai วันที่ 8 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นบริษัทแรกของปี 58 ราคาหุ้นยืนเหนือจองที่ 12.75 บาทต่อหุ้น แน่นอน เพราะนอกจากจะได้รับอานิสงส์จากธุรกิจพลังงานทดแทนที่สดใสและมีอนาคตที่ดีแล้ว TPCH ยังเดินหน้าขยายกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10 เมกะวัตต์ ให้เพิ่มขึ้นเป็น 150 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี ข้างหน้า แม้ว่าการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 12.75 บาทจะคิดเป็น P/E ที่สูงถึง 150 เท่าในขณะนี้ แต่ในอนาคตเมื่อสร้างโรงไฟฟ้าสำเร็จตามแผนงาน และประกอบกับการใช้อัตรา Fit ที่ส่งผลดีต่อกำไรที่สูงขึ้น จะทำให้บริษัทสามารถคืนทุนได้เร็วขึ้น และในที่สุดค่า P/E ก็จะลดลงต่ำกว่า 10 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ