PTTEP ยันเดินเครื่องผลิตทุกแหล่งตามปกติป้อนดีมานด์ในประเทศแม้น้ำมันร่วงหนัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 13, 2015 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) ยืนยันจะยังคงเดินหน้าผลิตปิโตรเลียมทุกแหล่งตามปกติต่อไปเพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ แม้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะร่วงลงมาอย่างรุนแรงจนต่ำสุดรอบเกือบ 6 ปีในขณะนี้
"ราคาน้ำมันที่ระดับ 42 เหรียญฯ เราก็ยังผลิตได้ เพียงแต่จะไม่มีเงินไปลงทุนใหม่ๆเพิ่ม เรายังต้องผลิตเพราะ demand ในประเทศยังมีอยู่"แหล่งข่าวจาก PTTEP กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวว่า ปตท.สผ.ได้ประเมินต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ราว 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แบ่งเป็นส่วนเงินสดที่ใช้ดำเนินการ 21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และส่วนที่ไม่ใช่เงินสด แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่มีการลงทุนไปแล้ว 21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้น หากราคาน้ำมันปรับลดลงมาที่ 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล บริษัทก็ยังสามารถดำเนินการผลิตได้ เพียงแต่จะไม่มีเงินกำไรไปใช้ขยายการลงทุนใหม่เพิ่มเติม ทำให้โอกาสการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่เป็นไปได้ยาก

เมื่อสัปดาห์ก่อนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTTEP ระบุว่า ในช่วง 1-2 เดือนรอติดตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลก คาดว่าจะได้ความชัดเจนในปลายปี 58 ว่าจะลงทุนต่อไปอย่างไร เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงรวดเร็วกว่าที่คาด ขณะที่จะใช้จังหวะเวลานี้ทบทวนแผนลงทุนโครงการใหม่ 5 แห่ง ได้แก่ แหล่ง M3 ในพม่า , แหล่ง Cash Maple ที่ออสเตรเลีย, แหล่งในโมซัมบิก , แหล่งออยล์แซดน์ เคดีดี ในแคนาดา และแหล่งฮัลซีบาราเกซในอัลจีเรีย

อนึ่ง ตามแผน 5 ปี (ปี 58-62) PTTEP ตั้งงบลงทุนรวม 24,295 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบ ดูไบ เฉลี่ยที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ และคาดว่าจะมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยปีนี้เติบโต 6%

ขณะที่ บมจ.ไทยออยล์(TOP) รายงานราคาน้ำมันดิบดูไบ ปิดล่าสุดเมื่อวานนี้ ลดลง 1.79 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาที่ 45.24 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดแรงอีก 5% ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงแรงเป็นครั้งที่สามนับตั้งแต่ปี 54 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.52 หลัง Goldman Sachs เตือนว่าราคาน้ำมันดิบอาจลดต่ออีก ในขณะที่ผู้ผลิตในกลุ่มโอเปก ยังคงระดับการผลิตเพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาด ท่ามกลางความกังวลว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐอาจปรับเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐหลายแห่งมีการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ