ก.ล.ต.คาดเกณฑ์"ไพร์มารี่ลิสติ้ง"-เทรดหุ้นด้วยสกุลอื่นชัดเจนภายในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 10, 2015 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า คาดกฎเกณฑ์การนำบริษัทต่างประเทศมาจดทะเบียนโดยตรง(ไพร์มารี่ ลิสติ้ง)ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทยจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/58 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ ก.ล.ต.มีความมุ่งหวังที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการะดมทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง(GMS) ซึ่งสิ่งสำคัญคือจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการที่บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาระดมทุนในประเทศไทยได้โดยสะดวก

นอกจากนั้น ตลาดหุ้นไทยยังควรจะต้องสามารถซื้อขายด้วยสกุลเงินที่มีความหลากหลาย โดยในช่วงปลายปี 57 ก.ล.ต. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้อบต้น(MOU)กับ Bank of China ขณะเดียวกัน ก็ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อที่จะให้นักลงทุนสามารถซื้อขายเป็นสกุลเงินอื่น นอกเหนือจากเงินบาท โดยอาจเริ่มต้นที่เงินสกุลหยวน และต่อไปก็อาจจะซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางก.ล.ต. คาดหวังว่าจะเห็นการซื้อขายในสกลุเงินอื่นได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจากนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของ ธปท.ในเรื่องระบบการชำระเงินด้วย

"เรามุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์การในการระดมทุนของหลายๆ ประเทศ โดยเราต้องทำให้นักลงทุนสนใจ ทำให้ตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกัน การซื้อขาย ด้วยสกุลเงินอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อที่จะให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้คล่องตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ MOU กับ Bank of China เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ...เราก็คาดว่าคงจะได้ซื้อขายหุ้นเป็นสกุลเงินหยวนก่อน และหลังจากนั้นคงเป็นสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งตอนนี้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์มีความพร้อมแล้ว ส่วนที่เหลือจะต้องรอทางแบงก์ชาติ เรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ"นายวรพล กล่าว

สำหรับความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในสายตาต่างชาตินั้น ก.ล.ต. คาดรัฐวิสาหกิจจะสามารถเข้ามาระดมทุนในรูปแบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Fund) เป็นแห่งแรก คือ กองทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)โดยคาดว่าจะสามารถเข้ามาระดมทุนในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ ปัจจุบันขั้นตอนดำเนินการคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% เบื้องต้นคาดมูลค่าระดมทุนราว 2 หมื่นล้านบาท ส่วนอีกราย 1 กองทุนโครงสร้างพื้นฐานของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)

นายวรพล กล่าวถึงโอกาสสร้างทุนสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงกิจการเกิดใหม่ที่จะระดมทุนในรูปแบบของ Crowd funding หรือ การระดมทุนสาธารณะ โดยการรวบรวมทุนจากผู้คนจำนวนมากเพื่อนำมาใช้ประโยชน์สนับสนุนโครงการต่างๆ ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ หรือเพื่อช่วยเหลือสังคม ขั้นตอนทั่วไปคือผู้ที่ต้องารระดมทุนมีการนำเสนอผลงาน ผลิตภัณฑ์ หรือโครงการที่จะต้องทำผ่านเว็บไซด์ที่เป็นสื่อกลางและระบุวงเงินที่ต้องการ หากเป็นที่ถูกใจของประชาชน Crowd ก็จะได้รับเงินลงทุน เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือโครงการตามที่ได้เสนอไว้

ทั้งนี้ การระดมทุนอาจมี 4 ลักษณะ คือ แบบที่ 1. donation คือผู้ลงทุนบริจาคเงินให้กับผู้ประกอบกิจการ โดยผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดใดตอบแทน เว้นแต่อาจจะได้รับผลประโยชน์ในแง่ของการลดหย่อนภาษี แบบที่ 2. Reward คือ กรณีที่ผู้ประกอบกิจการ ระดมทุนจากผู้ระดมทุน โดยเสนอผลตอบแทนเป็นสิ่งของหรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสินค้าที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการผลิตในอนาคต โดยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะไม่รวมถึงสิทธิที่ได้รับจากส่วนแบ่งกำไร ที่ผู้ประกอบกิจการได้รับ

ส่วนแบบที่ 3. Lending คือ ผู้ประกอบการกิจการระดมุทนจากผู้ลงทุน ในทำนองเดียวกับการของกู้ยืมเงินจากผู้ลงทุน หรือมีการเสนอตราสารหนี้ เพื่อตอบแทนการลงทุน ทั้งนี้ผู้ประกอบการกิจการจะคืนเงินและดอกเบี้ย(ถ้ามี) เมื่อถึงเวลาตามที่กำหนดไว้ และสุดท้าย แบบที่ 4. Equity คือ กรณีที่ผู้ประกอบการกิจการระดมทุนโดยเสนอผลตอบแทน ในรูปแบบหุ้นของบริษัท หรือการเป็นหุ้นส่วนของกิจการให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งทางก.ล.ต. ได้เข้ามาดูในเรื่องของกฎเกณฑ์ต่างๆ ในส่วนสุดท้ายนี้ เป็นหลัก

"Crowdfunding เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้มีแนวความคิดใหม่ๆ และมีความคิดดี ไอเดียดี ที่ไม่เงินทุนในการขยาย หรือต่อยอดความคิดของตัวเอง เข้ามาหาแหล่งเงินทุนในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งทางก.ล.ต. ได้เข้ามาช่วยในการสนับสนุน เพื่อที่จะให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต เพราะปัจจุบันค่าแรงของไทยค่อนข้างสูงและมีต้นทุนการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านคงยาก เราจึงหันมาสนับสนุนเรื่องนี้ เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้ รวมถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเป็นการก้าวเข้าสู่ digital economy เพระทุกคนเห็นอยู่แล้วว่าในอนาคตdigital economy ต้องมา ซึ่งการที่เราทำแบบนี้เพื่อต้องการสนับสนุนภาพในอนาคตด้วย"นายวรพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ