PTT ลดงบลงทุน 5 ปีหลังกำไรหด-ดีมานต์ก๊าซชะลอ แต่ยังเดินหน้าขยายคลัง LNG

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 19, 2015 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.(PTT)ปรับลดงบลงทุน 5 ปี(ปี 58-62)เหลือราว 3 แสนล้านบาท จาก 3.27 แสนล้านบาท หลังกำไรลดลงมากในปีที่แล้ว ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการปีนี้ยังไม่ดีนัก และความต้องการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ไม่ได้เติบโตอย่างที่คาด แต่ยังคงเดินหน้าแผนการขยายคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เฟส 3 เพื่อรองรับความต้องการในระยะยาวและเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน หลังมองการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยจะเข้าสู่ระดับสูงสุดในช่วงปี 57-58 ก่อนที่จะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า ปตท.ปรับลดงบลงทุน 5 ปีหลือราว 3 แสนล้านบาท จากเดิมที่ 3.27 แสนล้านบาท โดยในปีนี้จะลดเงินลงทุนเหลือ 7.9 หมื่นล้านบาท จาก 8.55 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาพรวมได้ตัดงบทำการบางส่วน และเลื่อนการลงทุนบางโครงการออกไป เนื่องจากความต้องการใช้เชื้อเพลิงไม่ได้เติบโตอย่างคาดการณ์ไว้ครั้งแรก

ล่าสุด ปตท.คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯเฉลี่ยในช่วง 5 ปีจะเติบโตปีละ 3% ใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) แต่เป็นอัตราที่ต่ำกว่าคาดการณ์เดิม ขณะที่ยังต้องรอดูแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP)ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯลงด้วยเช่นกัน

"ปีนี้คาดว่าผลประกอบการของเราอาจไม่ดีนัก ตรงนี้ก็ดูว่าตัดพอหรือเปล่า เพราะดีมานต์ไม่โตอย่างที่คาด สิ่งที่ต้องการเร็วก็ถูกขยับไป ในแง่งบลงทุนจะเป็นการขยับมากกว่า แต่ถ้าเป็นงบทำการก็จะถูกตัด ตัดแล้วยังไม่รู้ว่าตัดพอไหม เป็นเพราะเราจน เราก็เริ่ม activate แผนรัดเข็มขัดทั้งกลุ่ม"นายณัฐชาติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อนึ่ง ในปี 57 PTT มีกำไรสุทธิ 5.58 หมื่นล้านบาท ลดลง 40% จากปี 56 เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงแรงช่วงปลายปีส่งผลให้ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีขาดทุนจากสต็อกน้ำมันเป็นจำนวนมาก รวมถึง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP)ตั้งสำรองการด้อยค่าจำนวนมากด้วย

นายณัฐชาติ กล่าวว่า ตามแผนลงทุนในช่วง 5 ปีได้เลื่อนโครงการสร้างคลังนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)เฟส 2 เป็น 5 แสนตัน/เดือน จากปัจจุบันที่มีคลัง LPG นำเข้า 1 แห่ง ขนาด 1.3 แสนตัน/เดือน และอยู่ระหว่างการขยายเป็น 2.5 แสนตัน/เดือน ซึ่งจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มการนำเข้า LPG ลดลงหลังจากที่รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างราคาใหม่

ทั้งนี้ การนำเข้า LPG ในเดือน ก.พ.58 ลดลงเหลือแค่ 5 หมื่นตัน จากเดิมคาดว่าจะนำเข้ามากถึง 1.6 แสนตัน เนื่องจากราคา LPG ในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันนำ LPG ออกมาขายในระบบมากขึ้น จากเดิมที่ขายให้กลุ่มปิโตรเคมี หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในของกลุ่ม

นายณัฐชาติ กล่าวว่า ปตท.ต้องทยอยขาย LPG ที่ได้มีการทำสัญญานำเข้าในปีนี้ที่ระดับ 30 ลำเรือออกไปบ้าง โดย 1 ลำเรือจะนำเข้า LPG ราว 4 หมื่นตัน อย่างไรก็ตาม การขยายท่อส่ง LPG จะยังคงดำเนินการอยู่เพื่อลดการขนส่งทางรถไฟจากคลัง LPG ที่ จ.ชลบุรี ไปยังคลังภูมิภาคต่างๆ ขณะที่การปรับโครงสร้างราคา LPG ครั้งนี้ ยังทำให้ ปตท.ลดภาระขาดทุนจากธุรกิจ LPG ได้ราว 7-8 พันล้านบาทในปีนี้

ปัจจุบัน การผลิต LPG จะมาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ราว 1.7-1.8 ล้านตัน/ปี และยังมีการผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งด้วย แต่การที่รัฐบาลตรึงราคา LPG ก่อนหน้านี้ ทำให้การใช้ LPG เพิ่มขึ้นจนต้องนำเข้าตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นมา

นายณัฐชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)ที่ล่าสุดรัฐบาลได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกมาที่ระดับ 13 บาท/กิโลกรัม จากปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 10.50 บาท/กิโลกรัม และมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับขึ้นให้สะท้อนต้นทุนแท้จริง หากรัฐบาลปรับขึ้นไปถึงระดับ 14 บาท/กิโลกรัมในช่วงปลายปีก็จะเป็นระดับเดียวกับต้นทุนผลิต NGV ที่คาดว่าจะลดลงมาตามทิศทางราคาเนื้อก๊าซฯ โดยราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงในช่วงก่อนหน้าจะส่งผลต่อราคาก๊าซฯภายใน 6-12 เดือน

กรณีดังกล่าวทำให้บริษัทคาดว่าการขาดทุนจากธุรกิจ NGV ในปีนี้จะลดลงเหลือ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท จากราว 2 หมื่นล้านบาทในปีก่อน ขณะที่มองทิศทางราคาก๊าซฯยังคงทรงตัวในระดับต่ำต่อไปตามทิศทางของราคาน้ำมัน เพราะยังมีสต็อกน้ำมันทั่วโลกจำนวนมาก

*เสนอมาสเตอร์แพลนรับมือก๊าซฯอ่าวไทยหมด

นายณัฐชาติ กล่าวว่า ปตท.ได้เสนอมาสเตอร์แพลนต่อกระทรวงพลังงาน เพื่อรองรับการจัดหาก๊าซฯในอนาคตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในระยะยาว ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย รวมทั้งการนำเข้าก๊าซฯจากเมียนมาร์ และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในอ่าวไทยคาดว่าปริมาณการผลิตจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดในช่วงปี 57-58 ก่อนจะค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน การผลิตก๊าซฯของไทยและการนำเข้า LNG อยู่ที่ราว 3,900 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาจากอ่าวไทยราว 3,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนที่เหลือมาจากแหล่งผลิตบนบกและการนำเข้า LNG ยังมีการนำเข้าก๊าซฯจากเมียนมาร์ราว 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟต/วัน และจากแหล่ง JDA อีกบางส่วน ขณะที่ปี 57 ความต้องการใช้ก๊าซฯของไทยอยู่ที่ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ตามมาสเตอร์แพลนจะสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 เพื่อขยายขีดความสามารถในการส่งก๊าซฯเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 4 คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถของท่อส่งก๊าซฯเพิ่มเป็น 6,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขณะที่ท่อเส้นที่ 5 ยังจะช่วยทดแทนท่อส่งก๊าซฯ บนบก เส้นที่ 1 ที่มีอายุการใช้งานกว่า 30 ปีและไม่สามารถซ่อมบำรุงรักษาได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น คาดว่าท่อก๊าซฯเส้นที่ 5 จะแล้วเสร็จในปี 63-64

นอกจากนี้จะมีการสร้างคลังนำเข้า LNG เฟส 3 อีก 5 ล้านตัน/ปี ในพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อนำก๊าซฯเข้าระบบท่อก๊าซฯเดิมได้ รวมถึงจะมีการสร้างคลัง หรือใช้เรือลอยน้ำ เพื่อนำเข้า LNG ทางภาคใต้ เพื่อเป็นการเสริมปริมาณก๊าซฯทางภาคใต้ที่จะลดลง หลังมาเลเซีย เรียกรับก๊าซฯจากแหล่งเจดีเอ ตามสัญญา จากปัจจุบันที่ไทยใช้เกินสัญญาอยู่ โดยคาดว่า LNG ที่จะนำเข้าทางภาคใต้จะมีขนาด 1-2 ล้านตัน/ปี

รวมถึงจะมีการสร้างคลังก๊าซลอยน้ำเพื่อนำเข้า LNG ทางฝั่งตะวันตก เพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯจากเมียนมาร์ที่มีแนวโน้มลดลงเร็วกว่าสัญญา โดยเฉพาะในแหล่งเยตากุน ล่าสุดพบว่าปริมาณสำรองก๊าซฯลดลงไปมาก ทำให้การรับก๊าซฯจากแหล่งยาดานา ต้องลดลงด้วยเช่นกัน เพราะต้องนำก๊าซฯจากทั้งสองแหล่งมาผสมกันก่อนจะนำมาใช้ในประเทศ ล่าสุดผู้ผลิตก๊าซฯจากแหล่งเยตากุนอยู่ระหว่างการประเมินปริมาณสำรองใหม่ หลังจากนั้นจะสามารถสรุปแผนสร้างคลังหรือเรือลอยน้ำเพื่อนำเข้า LNG ได้ต่อไป

ตามสัญญาการซื้อขายก๊าซฯจากแหล่งยาดานา จะหมดสัญญาในปี 68 และเยตากุนจะหมดในปี 70 ส่วนแหล่งซอติก้าจะหมดสัญญาในปี 80 ขณะที่เมียนมาร์ยังไม่มีแนวโน้มที่จะขายก๊าซฯจากแหล่งผลิตใหม่ๆให้กับไทยเพิ่มเติมด้วย

นายณัฐชาติ กล่าวอีกว่า การผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยที่จะลดลงนั้น ทำให้ ปตท.และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC)ซึ่งเป็นผู้ใช้ก๊าซฯเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีร่วมกันศึกษาแผนการจัดหาวัตถุดิบเข้ามาทดแทนในจังหวะและโอกาสที่เอื้ออำนวย เพื่อรักษาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไว้ได้ คาดว่าจะสรุปได้ในไตรมาส 2/58

"เราคิดว่าปีที่แล้วหรือปีนี้จะเป็น peak production ของอ่าวไทย และจะเริ่ม decline ….ถ้าเมื่อใดที่ก๊าซฯในอ่าวไทยลดลงต่ำกว่า capacity โรงแยกก๊าซฯ คือปัจจุบันก๊าซฯในอ่าวไทยสูงกว่า capacity โรงแยกฯที่อยู่ระดับ 2,750 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ก๊าซฯในอ่าวอยู่ที่ 3,500 ล้านลูกบาศก์ฟตุ/วัน ถ้าลงจากนี้ต่ำกว่า 2,750 ผลิตภัณฑ์จากโรงแยกเริ่มลดลง feed ที่ป้อนให้ปิโตรเคมีก็จะเริ่มหายไป ซึ่งน่าจะเห็นใน 2 ปี นี่คือเหตุผลที่เราไม่สามารถสร้างโรงแยก 7 ได้ เพราะไม่มี feed ก๊าซฯ"นายณัฐชาติ กล่าว

นายณัฐชาติ กล่าวว่า ในระยะสั้นที่ความต้องการใช้ก๊าซฯเติบโตน้อยกว่าที่คาดการณ์ ทำให้ ปตท.ชะลอแผนการทำสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวออกไป จากปัจจุบันที่มีสัญญาซื้อขายระยะยาวกับการ์ต้า จำนวน 2 ล้านตัน/ปี แต่ก็ได้มีการเจรจาและทำ HOA(Heads of Agreement)จำนวนหนึ่ง แต่ได้ชะลอการทำสัญญาซื้อขาย (Sales and Purchase Agreement:SPA) ออกไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องความต้องการใช้ก๊าซฯ

ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะมีการนำเข้า LNG ราว 2.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 1.8 ล้านตันในปีที่แล้ว โดยจะเป็นการนำเข้า LNG ตามสัญญาซื้อขายระยะยาวกับการ๋ต้า จำนวน 2 ล้านตัน และซื้อจากตลาดจร(spot) อีก 2 แสนตัน จากแผนเดิมที่คาดว่าจะนำเข้า LNG ในปีนี้ 3 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 4 ล้านตันในปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ