(เพิ่มเติม) JAS ยืนยันแผนจับมือพันธมิตรร่วมประมูล 4G คาดลงทุนราว 2.5-3.5 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 25, 2015 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS)เปิดเผยว่า บริษัทมีความตั้งใจที่จะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 4G โดยประเมินเงินลงทุนอยู่ที่ 2.5-3.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าใบอนุญาต 1.5-2 หมื่นล้านบาท และเงินลงทุนโครงข่าย 1-1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะร่วมมือกับพันธมิตรของบริษัทที่มีความแข็งแกร่งและมีความเชี่ยวชาญในการทำ 4G มาแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ 3 ราย ซึ่งเป็น Mobile Operator รายใหญ่ในเกาหลี และญี่ปุ่น สุดท้ายจะเลือกเหลือ 1 ราย โดยจะเปิดให้พันธมิตรเข้าร่วมทุนสัดส่วน 25-40% ของบริษัทจัดตั้งใหม่เพื่อทำธุรกิจ Mobile Broadband 4G (MBB) ซึ่ง JAS จะถือหุ้นใหญ่หรือมากกว่า 51%ในบริษัทดังกล่าว

"เราคุยอยู่กับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ 3 ราย ได้คุยกันในระดับหนึ่ง สุดท้ายจะเลือกเหลือ 1 ราย คิดว่าจะเลือกใครก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ และ ดูประกาศประมูล 4G ของกสทช.ว่าจำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องสรุปได้ก่อนเข้าประมูล แต่ถ้าไม่จำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์ เราก็อาจจะประมูลไปก่อนแล้วค่อยว่ากันแต่ราคาก็อีกราคาหนึ่ง"นายพิชญ์ กล่าว

ส่วนแผนการจัดหาเงินลงทุน จะมาจากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต จัสมิน(JASIF) ที่เหลืออีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท ,เงินจากพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนอีก 1 หมื่นล้านบาท และเงินที่ได้จากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ(วอร์แรนต์) ครั้งที่ 3 หรือ JAS-W3 จำนวน ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และหากต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติม บริษัทก็จะพิจารณาระดมทุนด้วยการกู้ยืม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 0.5 เท่า

นายพิชญ์ กล่าวว่า เหตุผลที่บริษัทรุกขยายธุรกิจ Mobile Broadband 4G เพราะเห็นเป็นโอกาสที่ตลาดมีความต้องการใช้บริการ data เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจุบันในไทยมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 30 ล้านเครือง และธุรกิจ MBB ถือเป็นกลยุทธ์ให้บริษัทแข็งแรงขึ้น จากปัจจุบันที่มีธุรกิจหลักคือธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต (Fixed Broadband)ที่ดำเนินการโดยบมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ภายใต้ชื่ 3BB และเสริมด้วยธุรกิจ Wifi ซึ่งปัจจุบัน JAS มีจำนวน hotspot มากที่สุด

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ทั้ง 3 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดสูง ได้แก่ เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 46% ดีแทค มี 26% และ ทรูมูฟ มี 25% จะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 4G แต่ JAS จะเลือกลูกค้าสมาร์ทโฟนเป็นหลัก

"เราเชื่อว่า ตรงนี้มีโอกาสอีกเยอะ เราจะ Focus ตลาดที่เป็น Cream ที่สามารถจ่ายรายเดือนเหมือนกับ Fixed Broadband เราจะให้ service ที่ดี เราจะแตกต่างจาก operator รายอื่น...สิ่งที่ผมคิดในใจ 4G คือ Mobile Broadband 4G สิ่งที่ JAS จะเข้ามาเป็น New player ถ้าเราประมูลไลเซ่นส์ได้ เราจะทำให้ดีขึ้น target ลูกค้าเราคือลูกค้าที่ใช้สมาร์ทโฟน"นายพิชญ์กล่าว

นายพิชญ ยังกล่าวว่า ธุรกิจ Mobile Broadband 4G จะเน้นให้บริการดาต้ามากกว่า ไม่เน้นให้บริการด้าน Voice ทั้งนี้คาดว่าภายใน 1-2 ปีแรกจะมีจำนวนลูกค้า 1-2 ล้านรายซึ่งจะทำให้บริษัทเริ่มทำกำไรได้ แต่ก็ยอมรับว่าในช่วงแรกธุรกิจอาจจะมีผลขาดทุนบ้าง หรือในปี 59 กำไรสุทธิอาจจะได้รับผลกระทบ แต่บริษัทไม่ได้เริ่มนับหนึ่งเพราะบริษัทมีพนักงานที่มีประสบการณ์พร้อมในการให้บริการ 5-6 พันคน และอุปกรณ์บางอย่างใช้ร่วมกันได้และมีshop อยู่กว่า 300 แห่ง อีกทั้งบริษัทจะควบคุมค่าใช้จ่าย แม้ข่วยต้นธุรกิจจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาด

ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนเช่าเสาโทรคมนาคม จำนวนประมาณ 1 หมื่นต้น คาดใช้เงิน 1 หมื่นล้านบาท แต่หากเช่าไม่ได้ก็จะต้องทยอยลงทุนสร้างเสาโทรคมนาคมเอง คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี จำนวน 1 หมื่นต้น และนำขายเข้ากองทุน JASIF ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทรูโกรท (TRUEIF) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) มีจำนวนเสาโทรคมนาคมมากที่สุด

นายพิชญ์ คาดว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ระบบ 4G ในไตรมาส 4/58 อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไม่สามารถประมูลใบอนุญาตได้ บริษัทจะดำเนินธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตเป็นธุรกิจหลักต่อไป และจะมีเงินสดเหลือ ก็อาจพิจารณามาจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น

*คาดปีนี้กำไรสุทธิโต 15-20% ตามลูกค้าบรอดแบนด์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAS คาดว่าในปีนี้กำไรสุทธิจะเติบโต 15-20% จากปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 3.27 พันล้านบาท โดย EBITDA Margin ใกล้เคียงปีก่อนที่มีอัตรา 57% และรับรู้กำไรทางบัญชีจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน JASIF ส่วนรายได้ปีนี้คาดเติบโต 20-25% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.24 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายได้ต่อรายเฉลี่ย(ARPU) เพิ่มขึ้นเป็น 640 บาทจาก 635 บาทในปีก่อน ที่ได้เพิ่มจากลูกค้า FTTX

ทั้งนี้ เป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดยคาดว่าปีนี้จะมีลูกค้าเติบโตอีก 3.5-3.6 แสนรายเป็นกว่า 2 ล้านราย จากปีก่อนอยู่ที่ 1.7 ล้านราย เป็นลูกค้าเขตกทม. 30% และต่างจังหวัด 70% โดยในไตรมาสแรกปีนี้ มีลูกค้าสุทธิจำนวน 8 หมื่นรายซึ่งถือว่าทำสถิติสูงสุด และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ลูกค้าจะเพิ่มมาเป็น 3 ล้านราย หรือมีลูกค้าใหม่สุทธิปีละกว่า 3 แสนกว่าราย ขณะที่ภาพรวมผู้ใช้บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตจะเติบโต 10 ล้านรายใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมี 5 ล้านราย

ในปีนี้ตั้งงบลงทุนขยายโครงข่ายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตจำนวน 5 พันล้านบาทใกล้เคียงปีก่อน เพื่อขยายได้ทั่วทุกตำบลหรือ 7,000 ตำบลจากปีก่อนทำได้ 3,400 ตำบล เพื่อขยายการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 100%

นายพิชญ์ ยังกล่าวถึงข่าวลือที่มีออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าได้ขายหุ้น JAS นั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมาแต่อย่างใด

อนึ่ง จากการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นล่าสุด ณ วันที่ 16 มี.ค.พบว่านายพิชญ์ ถือหุ้น JAS อยู่ทั้งสิ้น 25.84%

นายพิชญ์ กล่าวถึงราคาหุ้น JAS ที่ปรับตัวลงอย่างมากตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าเกิดความเข้าใจผิดหลายเรื่อง อาทิ การขายหุ้นในโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัท ซึ่งไม่ได้เป็นอย่างที่ข่าวลือว่าจะขายในตลาด โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินโครงการนี้มา 4 ครั้งและไม่เคยนำมาขายในตลาด แต่จะใช้วิธีลดทุน และในครั้งนี้ก็คาดว่าแนวโน้มก็จะดำเนินการเหมือนครั้งก่อน แต่ก็ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทก่อน

ช่วงบ่ายวันนี้ ราคา JAS เคลื่อนไหวที่ 6.00 บาท ลบ 0.10 บาท (-1.64%) โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมาราคาลงมาต่ำสุดที่ 5.50 บาท หลังจากที่ราคาหุ้น JAS แกว่งตัวลงมาตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค.58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ