GLOW คาดรายได้-กำไรปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน แม้กำลังผลิตเพิ่ม 20 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 4, 2015 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิศิษฎ์ ศรีนันทวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม บมจ.โกลว์ พลังงาน(GLOW)คาดว่ารายได้และกำไรใกล้เคียงปีก่อน แม้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก 20 เมกะวัตต์ แต่เป็นปริมาณที่ไม่มากและไม่มีผลต่อการดำเนินงานมากนัก
"รายได้และกำไรปีนี้คงจะใกล้เคียงเดิม เพราะโครงการขยายส่วนใหญ่เสร็จหมดแล้ว แม้จะมีโครงการขยายเกือบ 20 เมกะวัตต์ที่เริ่มผลิตเมื่อเดือนเมษาฯก็ไม่ได้ช่วยเรื่องผลประกอบการมากนัก"นายวิศิษฎ์ กล่าว

ขณะที่การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้าลัดวงจร โดยใช้ตัวนำยิ่งยวด (SCFCL-Superconducting Fault Current Limiter) ที่จะดำเนินการในช่วงต้นปีหน้า จะช่วยให้การผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้น ทำให้จ่ายไฟให้ลูกค้าได้ต่อเนื่อง ช่วยลดต้นทุนการลงทุน ตลอดจนช่วยผลักดันรายได้และกำไรให้ดีขึ้นตั้งแต่ปีหน้า

นายวิศิษฎ์ กล่าวอีกว่า การใช้เงินลงทุนปีนี้ไม่ได้เพิ่มขั้น เพราะไม่ได้มีโครงการผลิตใหม่ๆ แต่จะเน้นการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนในรูปผลการดำเนินงานที่ดีกลับมา สำหรับการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้ายังเป็นไปตามแผน โดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่(IPP)ได้หยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วันในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ และมีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี ขนาด 713 เมกะวัตต์ ช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาช่วงเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ GLOW มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุน 2,891 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำ 1,206 ตัน/ชั่วโมง โดยในปีที่แล้วมีรายได้รวม 7.3 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9.14 พันล้านบาท ขณะที่มีกำไรก่อนอัตราแลกเปลี่ยน 9.67 พันล้านบาท

ล่าสุด วันนี้ GLOW และบริษัท แอพพลาย แมททีเรียลส์ จำกัด ได้ร่วมกันลงนามสัญญาซื้อขาย SCFCL ซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยกระแสไฟฟ้าผิดพลาดชนิดตัวนำยิ่งยวด โดย GLOW ได้สั่งซื้อ SCFCL ขนาด 115 kV จำนวน 2 ชุด เพื่อใช้กับโครงข่ายไฟฟ้าในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เสริมการผลิตพลังงานที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า โดยการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกของไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยลดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และการเกิดแรงดันไฟฟ้าตก ซึ่งมักเกิดขึ้นกับโครงข่ายไฟฟ้าขณะทำการจ่ายและส่งผ่านกระแสไฟฟ้า

นายวิศิษฎ์ กล่าวว่า มูลค่าการซื้ออุปกรณ์ SCFCL อยู่ที่กว่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสั่งซื้อและคาดว่าจะเริ่มติดตั้งได้ในต้นปีหน้า อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยลดขนาดของกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ