บลจ.กรุงไทย เปิดขาย 2 กองทุนตราสารหนี้ 6 เดือน คาดผลตอบแทน 1.5-2.0%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 17, 2015 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ทอินเวส 6 เดือน 3 (KTSIV6M3) และกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ เอ็นแฮนซ์ 17 (KTFFE17) อายุประมาณ 6 เดือน เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนการลงทุนที่มีโอกาสสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนจะอยู่ที่ประมาณ 1.5% และ 2% ต่อปีตามลำดับ เริ่มเสนอขายตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 19 มิ.ย. และ 23 มิ.ย.ตามลำดับ

สำหรับกองทุน KTSIV6M3 มีความโดดเด่นด้วยอายุกองทุนระยะสั้นประมาณ 6 เดือน ผลตอบแทนประมาณ 1.5 % ต่อปี บุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ บัตรเงินฝาก ตราสารหนี้ธนาคารพาณิชย์และเอกชนในประเทศ ได้แก่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บมจ.บัตรกรุงไทย บมจ.อีซี่ บาย และบจ.โตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) โดยรวมแล้วกองทุนนี้มีความเสี่ยงระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ (ระดับ 4) เสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไป หรือขั้นต่ำที่ 10,000 บาท ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 19 มิ.ย.58

ส่วนกองทุน KTFFE17 มีอายุกองทุนระยะสั้นประมาณ 6 เดือนเช่นกัน ผลตอบแทนประมาณ 2% ต่อปี บุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี เน้นลงทุนในตราสารต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ประกอบด้วย ตราสารหนี้ต่างประเทศ MTN ออกโดย Banco ABC (Brazil) , Banco BTG Pactual S.A. , MTN ออกโดย Banco Santander (Brasil) S.A. , MTN ออกโดย Turkiye IS Bankasi A.S. และ MTN ออกโดย Turkiye Vakiflar Bankasi TAO เสนอขายผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้ที่มีเงินลงทุนสูง หรือลงทุนขั้นต่ำมูลค่า 500,000 บาท

กองทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ (ระดับ 4) และมีการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่สามารถคาดการณ์ผลตอบแทนได้และสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้บ้าง เสนอขายตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 23 มิ.ย.58

นางชวินดา กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในประเทศ ค่อนข้างผันผวนในช่วง -1.80 bps. ถึง + 0.30 bps. ตามแรงซื้อ-ขายของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยตราสารหนี้อายุคงเหลือตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8 - 9.6 bps. ขณะที่ตราสารหนี้อายุคงเหลือ 11 ปี มีผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดตามแรงขายของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงการถือครองจากการที่ตลาดลดความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการประชุมวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับมีมติคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อปี ส่งผลให้นักลงทุนขายตราสารหนี้ระยะยาวและนำเงินกลับมาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคือทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรต่างประเทศ

ขณะที่อัตราผลตอบแทนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีการเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ ระหว่าง -3 bps. ถึง +2 bps. โดยอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 bps. มาอยู่ที่ 0.74% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี อยู่ที่ 1.75% ต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลง และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง -2 bps. มาอยู่ที่ 2.39% ต่อปี ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตหนี้กรีซ ความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นช่วงขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจโลกประจำปี 58 ของธนาคารโลก โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือความวิตกของตลาดเกี่ยวกับกรณีหนี้กรีซ นักลงทุนจึงหันมาลงทุนในพันธบัตร ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ