UWC สรุปซื้อ 4 โรงไฟฟ้าชีวมวล 40 MW ก.ย.นี้,เจรจาอีก 100 MW เลือกลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 7, 2015 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมณฑล เชตุวัลลภกุล รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการบัญชีและการเงินและสำนักงาน บมจ.เอื้อวิทยา(UWC)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล(Biomass)และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ(Biogas) 14 โรง รวมกำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ โดย 4 โรงแรกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้พืชพลังงานเป็นวัตถุดิบ กำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการต่อรองราคาคาดว่าจะได้ข้อสรุปปลายเดือน ก.ย.นี้
"หากตกลงซื้อขายได้ บริษัทจะสามารถรับรู้รายได้ทันทีในปีนี้ เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว แต่อาจต้องมีการปรับปรุงโรงไฟฟ้าด้วย"นายมณฑล กล่าว

นอกจากนั้น บริษัทยังมีความสนใจขยายการลงทุนและเจรจากับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีก 10 แห่งทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าชีวภาพ รวมขนาดกำลังการผลิตราว 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ความชัดเจนเบื้องต้นภายในช่วงปลายไตรมาส 3/58 มีทั้งการเข้าซื้อกิจการทั้ง 100% และการเข้าร่วมทุนที่ UWC จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วนมากกว่า 50% ซึ่งปลายปีนี้น่าจะมีข้อสรุป

"ถ้าเราเจรจาซื้อได้แน่ๆ 4 โรง ส่วนอีก 10 โรงที่เจรจากันอยู่ก็อาจจะไม่เอาถึง 10 โรง เอาโรงดีๆ 2 โรงก็พอ แต่ถ้า 4 โรง ไม่ได้หมด ก็ต้องมาคุย 10 โรงให้ได้มาก แต่การเจรจา 4 โรงก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ถ้าจะซื้อได้ทั้ง 100% ขึ้นอยู่กับเจ้าของ แต่ก็อยากถือหุ้นใหญ่หรือ 50% ขึ้นไปไม่อย่างนั้นเรา control ไม่ได้ นอกจากนี้เรายังคุยโรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ"นายมณฑล กล่าว

สำหรับแหล่งเงินทุนของบริษัทในธุรกิจโรงไฟฟ้าจะมาจากเงินเพิ่มทุนจำนวน 1,200 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะเพียงพอการลงทุนในโรงไฟฟ้า 4 แห่งแรกที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนเป็นลำดับแรก

นายมณฑล กล่าวว่า บริษัทคาดว่าปีนี้จะมีรายได้ราว 1,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 700 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจเดิมคือผลิตและจำหน่ายเสาโทรคมนาคมและเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง น่าจะอยู่ที่ราว 600 ล้านบาท และทำรายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวล 4 โรงเข้ามาประมาณ 400 ล้านบาทในไตรมาส 4/58 ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการแรกที่ร่วมทุนกับบริษัท ไทยนคร พาราวู้ด จำกัด กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ จะเริ่มจ่ายไฟในกลางปี 59

บริษัทมองว่าธุรกิจเดิมในปีนี้ยังทรงตัว โดยคาดว่าจะมียอดขายเสาโทรคมนาคม 400 ล้านบาท จากปีก่อนมี 300 ล้านบาท โดยครึ่งแรกปี 58 รับรู้ฯไปแล้ว 200 ล้านบาท เหลืออีก 200 ล้านบาทจะรับรู้ฯในครึ่งปีหลัง แต่อาจจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทโทรคมนาคมทั้ง 3 รายใหญ่ต้องติดตั้งโครงข่าย 3G ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนธุรกิจเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงมีรายได้ 200 ล้านบาท ขณะนี้มีคำสั่งซื้อแล้วกว่า 600 ล้านบาท เริ่มผลิตและส่งมอบตั้งเดือน ก.ย.นี้

นายมณฑล กล่าวว่า บริษัทคาดว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานจะสูงขึ้นมาถึง 80-90% ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจเดิม ขณะที่กำไรจะเติบโตก้าวกระโดด เนื่องจากธุรกิจพลังงานมีอัตรากำไรสูงกว่าธุรกิจเดิมมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ