SOLAR เล็งปรับแผนหันเน้นส่งออกแผงหากรัฐเลื่อน COD โซลาร์ราชการฯ,แนะใช้แผงในปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 13, 2015 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โซลาร์ตรอน (SOLAR) มองว่าบริษัทจะไม่ถูกกระทบมากนักหากรัฐบาลจะเลื่อนระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ) จำนวน 800 เมกะวัตต์ออกไปจากเดิมที่กำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ภายในเดือนมิ.ย.59 พร้อมแนะรัฐบาลควรใช้แผงเซลล์จากผู้ผลิตในประเทศที่ได้มาตรฐานในการดำเนินโครงการ มากกว่าการใช้แผงเซลล์นำเข้าที่มีราคาถูก
"ในแง่อินเวสเตอร์เราก็อยากจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นทันทีก็จริง ซึ่งเพียงแต่เลื่อนระยะ COD ออกไป ในฐานะอินเวสเตอร์ก็ไม่กระทบ ในฐานะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ถ้าเลื่อนก็ขายได้ตามกำลังการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์เต็มกำลังของบริษัทที่ 200 เมกะวัตต์ และในฐานะที่เป็นหมวกผู้รับเหมาออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (EPC) ทุกรูปแบบ ซึ่งมีทีมวิศวกรอยู่แล้ว จะเลื่อนหรือไม่เลื่อนก็ค่าเท่ากัน ถ้าเลื่อนก็มีน้อยทีมและค่อยๆทำไปเรื่อย แต่ถ้าไม่เลื่อนก็เกณฑ์จากหลายทีมเพิ่มเข้ามา เพื่อเร่งทำให้เสร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว"นางปัทมา กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อนึ่ง SOLAR เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ทุกรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังให้ความสนใจจะเข้าร่วมกับกลุ่มสหกรณ์หรือส่วนราชาการเพื่อทำโครงการโซลาร์ฟาร์มในอนาคตด้วย สัปดาห์ก่อนนายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ระบุว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ในปลายเดือนก.ค. เพื่อให้เลื่อน COD โครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการออกไปเป็นภายในมิ.ย.60 จากเดิมมิ.ย.59 ขณะที่ล่าสุดรมว.พลังงาน ระบุว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าวในเดือนส.ค.เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามายื่นเอกสารภายในเดือนต.ค. แต่การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบนั้นจะทยอยเข้าในช่วงเวลาที่แตกต่างกันแล้วแต่พื้นที่ โดยพิจารณาจากสายส่งเป็นสำคัญ นางปัทมา กล่าวว่า บริษัทได้จัดโครงสร้างของบริษัทลูกเพื่อรองรับการลงทุนโครงการโซลาร์ส่วนราชการไว้ถึง 5 บริษัท สามารถลงทุนสูงสุดได้ถึง 250 เมกะวัตต์ ขณะที่ในส่วนของแผงเซลล์แสงอาทิตย์นั้นได้มีการสต็อกสินค้าไว้เพื่อลงทุนบ้างแล้ว หากรัฐบาลจะเลื่อน COD โครงการดังกล่าวออกไปเป็นปี 60 ก็มีแผนรองรับในส่วนของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ด้วยการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก

แต่ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทจะมุ่งเน้นการจำหน่ายภายในประเทศเป็นหลัก และส่งออกเป็นอันดับรองลงมา แต่หากรัฐบาลเลื่อน COD ก็สามารถส่งออกแผงเซลล์แสงอาทิตย์ออกไปในรูปสกุลดอลลาร์ ก็จะส่งผลดีต่อรายได้ที่จะกลับเข้ามาในรูปของสกุลเงินบาทที่จะเพิ่มขึ้น จากการที่เงินบาทอ่อนค่ามาเกือบระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ เราส่งออกก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีกเป็นผลดี

"ของ SOLAR ถ้าเลื่อนไปก็จะมีรายได้จากการขายแผงเป็นปกติ ถ้าไม่เลื่อนก็จะมีรายได้จากการลงทุนซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นรายได้ยาว 25 ปี" นางปัทมา กล่าว

นางปัทมา ยังเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะยังต้องการให้โครงการเกิดตามกำหนด คงไม่เลื่อนไปไกลถึงปี 60-61 หรืออาจจะเลื่อนแค่ 1-2 เดือน แล้วเกิดได้ปลายปี 59 ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ โดยโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขณะที่ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้เสนอโครงการร่วมกับราชการและสหกรณ์นั้น มีความพร้อมที่จะลงทุนได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เงินทุนจากภาครัฐ

"ตามราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้า ลงวันที่ 13 มีนาคม 2558 โครงการ 800 MW Solar Farm สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์การเกษตร ระบุเรื่อง COD ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ไว้ ดังนั้น จึงไม่สามารถเลื่อนกำหนด COD ไปเป็นมิถุนายน 2560 ได้ ยกเว้นแต่ว่าต้องไปผ่านมติคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ง่ายที่จะให้ ครม. ให้ความเห็นชอบ"นางปัทมา กล่าว

นางปัทมา กล่าวว่า การลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ 800 เมกะวัตต์ เป็นการระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านบาท และมีความพร้อมที่จะลงทุนทันทีโดยไม่ต้องใช้เงินทุนภาครัฐ ดังนั้น กระทรวงพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงควรสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้ไปสู่ชนบททั่วประเทศ และยังกระตุ้นการสร้างงานโดยไม่ต้องรอรัฐบาลถัดไปด้วย

นอกจากนั้น ยังเห็นว่าในส่วนของการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการนั้น ควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ลงทุน กับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เพราะแผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นแผงที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปี และเป็นอุปกรณ์หลักของการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์มีมูลค่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุน ดังนั้น ผู้ลงทุนจำเป็นต้องเลือกใช้แผงที่มีคุณภาพและสามารถเปลี่ยนแผงทดแทนได้ตลอดระยะเวลา 25 ปี

การใช้แผงฯนำเข้าจากต่างประเทศ โดยคำนึงถึงราคาที่ถูกเพียงอย่างเดียว หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากการขายไฟฟ้าสูงสุด เนื่องจากแผงเซลล์ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่และอาจทำให้เกิดปัญหาในการดูแลโรงไฟฟ้า ดังนั้น จึงควรเป็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ได้มาตรฐานมอก. ซึ่งมีโรงงานผลิตในประเทศไทย และมาตรฐาน IEC ซึ่งสามารถติดต่อโรงงานผู้ผลิตในประเทศไทยได้ตลอด 25 ปี

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งมีโรงงานอยู่ในประเทศไทยและมีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. และมาตรฐาน IEC เพียงพอสำหรับโครงการ 800 MW ดังนั้นผู้ลงทุนและหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรจะสามารถติดต่อและใช้บริการได้ตลอด 25 ปี และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ