AOT ปรับรันเวย์ 3 เป็น 4 พันเมตร,คาดประมูลงานสุวรรณภูมิเฟส 2 ปลายปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 22, 2015 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิติน้ย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทวันนี้มีมติให้ปรับเปลี่ยนแผนงานก่อสร้างทางวิ่ง(Runway)ที่ 3 ให้มีความยาว 4,000 เมตร จากเดิมกำหนดความยาว 3,700 เมตร เพราะพบว่ามีความเหมาะสมกว่า โดยได้มีการปรับพื้นดินรองรับความยาวของรันเวย์ใหม่แล้ว

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านบาท โดยราคาก่อสร้างลดต่ำกว่าเดิม 115 ล้านบาท มาที่ 6,300 ล้านบาท งานเชื่อม 2 รันเวย์ 3,000 ล้านบาท และค่าชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ 10,000 ล้านบาท น่าจะได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) ได้ไม่เกินเดือน ต.ค.นี้ และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปี 59

ส่วนงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 มูลค่างาน 6.3 หมื่นล้านนบาท ซึ่งปรับลดงบได้กว่า 5.3-5.6 พันล้านบาท จากเป้าหมายปรับลดงบลงทุนลง 1 หมื่นล้านบาทนั้น ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)แล้วเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา แบ่งงานเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเป็นงานฐานราก งานวิศวกรรม งานสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าและงานปรับพื้นดินหลุมจอด 28 หลุม ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นงานสถาปัตย์ และ กลุ่มที่ 3 เป็นงานระบบไฟฟ้า สาธารณูโภคต่างๆ

สำหรับงานกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 คาดว่าจะประกาศเชิญชวนผู้รับเหมาเข้ามาเสนอราคาและจะได้ตัวผู้รับเหมาภายในเดือน ก.พ. 59 และเริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค.59 ส่วนกลุ่มงานที่ 2 คาดว่าจะเริ่มงานได้ในเดือน มิ.ย.59

นายนิตินัย กล่าวว่า บริษัทยืนยันขณะนี้ยังไม่มีแผนเปลี่ยนเครื่องตรวจวัตถุระเบิดรุ่น CTX 9400 ที่ใช้ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 26 เครื่องในปัจจุบัน คาดว่าต้องรออีก 4 ปีจึงจะสามารถสั่งซื้อเครื่องใหม่ได้ โดยจะต้องรอผลการศึกษาที่คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีครึ่งเริ่มจากเดือน ม.ค.59

ขณะเดียวกันบริษัทได้ว่าจ้างกับบริษัท MORPHO จากสหรัฐเป็นผู้ดูแลและซ่อมบำรุงเครื่อง CTX 9400 ต่อเนื่อง โดยรอบใหม่จ้างระยะเวลา 3 ปี 10 เดือน เริ่มในวันที่ 1 ก.ย.58 -30 มิ.ย.62 มูลค่า 547 ล้านบาท(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่วนเดือน ก.ค.-ส.ค.58 เป็นการว่าจ้างชั่วคราว เนื่องจากติดขัดเรื่องเอกสาร

อนึ่ง เครื่อง CTX 9400 เริ่มใช้ตั้งแต่เปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.49

"ยืนยันยังไม่ซื้อ CTX อีก 4 ปี รอกระบวนการใหม่ 4 ปีข้างหน้าน่าจะมีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดใหม่กว่านี้ ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา"นายนิตินัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาดังกล่าวสอดคล้องกับการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 แล้วเสร็จ คาดว่าจะมีการศึกษาและจัดซื้อได้ในคราวเดียวกันกับเครื่องที่ต้องซื้อเพิ่ม เพราะการติดตั้งเครื่อง CTX ต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนสายพานใหม่ด้วย

ขณะที่การขยายท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น นายนิตินัย กล่าวว่า จะเปิดใช้อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบ inline Screening ติดตั้งอยู่ 6 ตัว หลังเช็คอินกระเป๋าแล้วจะมีการตรวจตามสายพานที่ติดตั้งเครื่องดังกล่าวไว้ ซึ่งลักษณะคล้ายที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ผู้โดยสารจะไม่สามารถแตะต้องกระเป๋าได้อีก

ขณะเดียวกันอาคารผู้โดยสารที่ 1 จะปรับปรุงอาคารใหม่และระบบตรวจกระเป๋าหลังเปิดใช้อาคารผู้โดยสารที่ 2 แล้ว

ปัจจุบัน ยอมรับว่าท่าอากาศยานดอนเมืองมีความแออัดมากขึ้น โดยอาคารผู้โดยสารที่ 1 รองรับผู้โดยสารได้ 18.5 ล้านคน แต่ขณะนี้มีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 22 ล้านคน

ด้านท่าอากาศยานในภูมิภาค 4 แห่ง คือ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่ ได้มีระบบตรวจเช็คทั้งท่าอากาศยาน (Terminal Screening) โดยจะให้นำกระเป๋าที่จะขึ้นเครื่องและนำติดตัวตรวจผ่านเครื่องเอ็กซเรย์อยู่แล้ว รวมทั้งมีการตรวจผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำได้ทั่วถึง เพราะมีจำนวนผู้โดยสารไม่มากนัก นับว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีนี้จะมีแผนปรับปรุงท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 4 แห่งต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ