CITI แนะมองยาวจัดพอร์ตลงทุน, เชื่อตลาดหุ้นยุโรป-ญี่ปุ่นผลตอบแทนดีกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 6, 2015 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ซิตี้ (CITI)ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ควรจับตาดูหลายเหตุการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงแนวโน้มตลาด โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐอเมริกา อาจเปลี่ยนภาพรวมของตลาดการเงิน การจัดพอร์ตการลงทุนในครึ่งปีหลังควรมองในระยะยาวมากกว่าภายในปีนี้และปรับการลงทุนให้เหมาะกับการลงทุนระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับผลตอบแทนที่คาดหวัง และบริหารจัดการความเสี่ยงให้เหมาะสม

ซิตี้เชื่อว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในปีนี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นในยุโรปและญี่ปุ่น วัดจากดัชนี MSCI World ที่ให้ผลตอบแทนถึง 4.2% ณ วันที่ 29 พ.ค.58 ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีแรกของปี 58 ยังไม่มั่นคงและเติบโตไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในประเทศหลักๆแตกต่างกัน จึงมีความผันผวนพอสมควรในตลาดการเงิน ขณะที่ยังเน้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย โดยเชื่อว่ายังไม่มีภาวะฟองสบู่ในเอเชีย แต่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ยังต้องจับตาการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐอเมริกา อาจเปลี่ยนภาพรวมของตลาดการเงิน

"ในช่วงต้นปี 58 ที่ผ่านมา ซิตี้ พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจส่งผลดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ถึงเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐอเมริกา อาจเปลี่ยนภาพรวมของตลาดการเงิน แม้ว่าตลาดหุ้นขาขึ้นจะเริ่มอิ่มตัว แต่มันเร็วเกินไปที่จะบอกว่าถึงจุดสิ้นสุดของตลาดขาขึ้นแล้ว เพราะวงจรธุรกิจยังคงสามารถทำกำไรได้"นายฮาเรน ชาห์ หัวหน้าบริหารนักกลยุทธ์การลงทุนบริการบริหารความมั่งคั่ง ซิตี้ เอเชียแปซิฟิก กล่าว

นายชาห์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นยังปรับตัวได้ดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนักวิเคราะห์ของซิตี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความคาดหวังในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความผันผวน การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัว สถานการณ์ในประเทศกรีซและความเสี่ยงทางการเมืองของยูโรโซนยังคงมีอยู่ ดังนั้น ปัจจัยหลักที่ควรคำนึงถึงสำหรับการลงทุนในครึ่งปีหลัง คือการปรับสมดุลสัดส่วนพอร์ตการลงทุน ด้วยการนำกำไรบางส่วนมาลงทุนในตลาดที่มีราคาถูกกว่า

โดยยังคงเน้นย้ำการลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากกว่าในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา และเชื่อว่ายังไม่มีภาวะฟองสบู่ในเอเชีย สำหรับตลาดหุ้นเอเชียจะเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ก็ต่อเมื่อมูลค่าประเมินเชิงพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัวจากมูลค่าปัจจุบัน โดยขณะนี้ ตลาดหุ้นเอเชียเป็นเพียงตลาดเดียวที่มีราคาซื้อขายที่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย (ราคาต่อกำไรต่อหุ้น ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 14.2 เท่า เมื่อเทียบกับ ราคาต่อกำไรต่อหุ้นเฉลี่ยที่ 15.9 เท่า) ในขณะที่ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในเอเชียสูงกว่าในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ถึง 26% และยังสูงกว่าผลกำไรของบริษัทในสหรัฐอเมริกา ณ ปัจจุบัน

ทั้งนี้ ซิตี้ อ้างอิงจากดัชนีชี้วัด MSCI Asia ไม่รวมญี่ปุ่น ตั้งเป้าไว้ที่ 630 สำหรับในภูมิภาคให้น้ำหนักของตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ และให้ความสำคัญกลุ่มอุตสาหกรรมสถาบันการเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค สาธารณูปโภค และเทคโนโลยี

นักวิเคราะห์ของซิตี้ คาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7% ในปี 58 และ 3.35% ในปี 59 จากที่เคยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.78% ในปี 57 โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศที่พัฒนาแล้วจะเพิ่มขึ้นจาก 1.7% ในปี 57 ไปที่ 1.9% ในปี 58 และ 2.45% ในปี 59

แม้ว่านักวิเคราะห์ทั่วโลกจะคาดการณ์แตกต่างกัน นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้ ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2558 ไว้ที่ 2.4% ซึ่งการปรับลดครั้งนี้เป็นผลมาจากการเติบโตในไตรมาสแรกที่ลดลง ในทางกลับกันมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 0.6% ในปี 58 และ 1.8% ในปี 59 และจะเติบโตมากขึ้นในอีกหลายไตรมาสอันใกล้ และสำหรับภูมิภาคยุโรป นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจะเติบโตอยู่ที่ 1.5% ในปี 58 และ 1.9% ในปี 59 จากการที่สกุลเงินยูโรอ่อนค่า รวมถึงอุปสงค์และอุปทานเงินกู้ในธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ คาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมจะอยู่ที่ 3.8% ในปี 58 และ 4.6% ในปี 59 หลังจากที่เติบโต 4.2% ในปี 57 แต่นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้ ยังคงกังวลภาพรวมเศรษฐกิจของจีนในระยะกลาง มองว่าอัตราการเติบโตของจีนจะต่ำกว่าขีดความสามารถในการเติบโตสูงสุดในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยการที่มีผลผลิตส่วนเกินมากเกินไปและหนี้สินในระดับสูงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพิ่มเติม ดังนั้นคาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจีนจะตกลงต่ำกว่า 7% ในปี 58 ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 42


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ