(เพิ่มเติม) PTT กังวลศก.กระทบผลงาน H2-58 หลังรายได้-กำไร H1/58 ลดตามราคาน้ำมัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 18, 2015 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า บริษัทยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนักจะกระทบต่อผลประกอบในครึ่งปีหลัง แม้แนวโน้มภาพรวมของธุรกิจหลักยังมีทิศทางที่ดีทั้งในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมี ,ก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นอาจจะอ่อนตัวลงจากครึ่งปีแรกบ้างก็ตาม

ทั้งนี้ ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 58 ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและกำไรสุทธิลดลง หลังราคาราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 56.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลต่ำกว่าปีก่อน

"ครึ่งปีหลังราคาน้ำมันค่อนข้างนิ่ง ผลประกอบการของ ปตท.ภายในช่วงต้นยังไม่มีประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่จะกระทบต่อผลประกอบการในครึ่งหลังของกลุ่มปตท.น่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจมหภาค เพราะเศรษฐกิจรากหญ้าตอนนี้ยังอ่อนแออยู่ รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร และปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวาน(เหตุระเบิดที่ราชประสงค์) รัฐบาลจะเรียกความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวกลับมาได้อย่างไร ซึงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจมหภาคที่จะมีผลกระทบ ก็คงต้องมีการระมัดระวัง...ถ้ารัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าภาพก็จะดีขึ้น"นายไพรินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายไพรินทร์ กล่าวว่า สินค้าพลังงานยังเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการบริโภคต่อเนื่อง และรัฐบาลยังคงมีเวลาในช่วงที่เหลือของปีเพื่อเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะที่เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นย่านราชประสงค์เมื่อค่ำวานนี้ ทำให้ ปตท.ต้องมีความเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

สำหรับทิศทางราคาน้ำมันในช่วงนี้จนถึงปลายปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งหากไม่มีภาพของปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเชื่อว่าธุรกิจพลังงานจะไม่เลวร้ายลง เพราะผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว โดยเบื้องต้นเห็นว่าในส่วนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ น่าจะมีมาร์จิ้นดีขึ้นจากที่ราคาก๊าซฯอ่อนตัวลง ซึ่งเป็นทิศทางการเคลื่อนไหวที่ช้ากว่าราคาน้ำมันราว 3-6 เดือน

ด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT ยังคาดว่าการขาดทุนจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) น่าจะต่ำกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ติดลบ 5.5 พันล้านบาท เนื่องจากความต้องการใช้ NGV ลดลงราว 3% ในรอบ 12 เดือนนี้ หลังจากที่รัฐบาลได้ปรับขึ้นราคา NGV ประกอบกับราคาก๊าซฯซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิต NGV ลดลงตามราคาน้ำมันด้วย

ส่วนธุรกิจเทรดดิ้งและโรงกลั่นน่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว โดยธุรกิจโรงกลั่นในช่วงครึ่งแรกของปีนับว่ามีค่าการกลั่น(GRM) อยู่ระดับ 7-10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในระดับที่สูงมาก แต่เชื่อว่าน่าจะอ่อนตัวลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปี หลังส่วนต่างราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปเริ่มแคบลง ขณะที่ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลงมาจากปริมาณการผลิตที่ยังมีออกมาสู่ตลาดจำนวนมาก ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะคงที่ในระดับเดิม

ขณะที่ธุรกิจของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) ได้มีการปรับตัว ด้วยการดำเนินมาตรการ"ลด ละ เลิก" ทำให้ต้นทุนการดำเนินการของ PTTEP ลดลงมาก ประกอบกับมีเงินสดในมือสูงถึง 1 แสนล้านบาท ทำให้มีโอกาสที่จะมองหาการลงทุนใหม่ในช่วงนี้เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้มากขึ้น หลังยังมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ไม่มากนัก นอกจากนี้ PTTEP ยังมีการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันผลขาดทุนของบริษัทได้ในช่วงครึ่งปีหลังด้วย

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า การบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ในส่วนของ ปตท.ปีนี้คงมีน้อยมาก แต่หากจะมีจะอยู่ในส่วนของ PTTEP แต่ก็ยังขึ้นกับแนวโน้มราคาน้ำมันในระยะยาว หลังจากก่อนหน้านี้ ปตท.ได้มีการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ไปแล้ว 780 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงแรง รวมถึงยังได้ปรับตัวด้วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน ตลอดจนการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลัก และบริหารเงินสดที่มีอยู่ให้ดีที่สุด รวมถึงบริหารความเสี่ยงด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมด้วย

ปตท.ยังคงงบลงทุนในช่วง 5 ปี(ปี 58-62)ที่ระดับ 2.99 แสนล้านบาท แต่ได้ปรับลดงบลงทุนในปี 58 ลงเหลือระดับ 5.57 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 7.73 หมื่นล้านบาท โดยได้เลื่อนโครงการลงทุนในต่างประเทศ และโครงการคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)เฟส 2 ออกไป หลังการนำเข้า LPG ลดลงเหลือราว 8 หมื่นตัน/เดือน จากเดิมที่นำเข้าถึง 1.6 แสนตัน/เดือน หลังรัฐบาลปรับราคา LPG ให้สะท้อนต้นทุนแท้จริงมากขึ้น

ขณะที่ ปตท.ยังคงเป้าหมายการนำหุ้น บมจ.สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง(SPRC)ซึ่งทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันขนาด 1.6 แสนบาร์เรล/วันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปีนี้ โดย ปตท.จะขายหุ้นที่ถืออยู่ 36% ออกทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ปตท.คงเหลือการถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันเพียง 3 แห่ง ได้แก่ บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.ไทยออยล์(TOP)หลังจากที่ในไตรมาส 2/58 ได้ขายหุ้นทั้งหมดในบมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) ออกไปหมดแล้ว

สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งแรกปีนี้ ปตท.มีและบริษัทย่อยมีรายได้จำนวน 1,052,261 ล้านบาท ลดลง 292,501 ล้านบาท หรือ 21.8% มาจากปัจจัยทางด้านราคาเป็นหลักแม้ปริมาณขายโดยรวมยังเติบโตต่อเนื่อง โดยราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ลดลงตามราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยครึ่งปีแรกที่ลดลงอยู่ที่ระดับ 56.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ขณะที่ ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 46,330 ล้านบาท ลดลง 20% จาก 57,895 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 57 และมีEBITDA จำนวน 159,350 ล้านบาท ลดลง 3,432 ล้านบาท หรือ 2.1% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปีก่อน

"ถึงแม้ผลการดำเนินงานในภาพรวมจะอ่อนตัวลง แต่โครงสร้างธุรกิจที่หลากหลายและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนและทำให้ ปตท.มั่นใจในผลการดำเนินงานในระยะยาว โดยจะเห็นได้จากการดำเนินงานครึ่งปีแรกที่ยังแข็งแกร่งของ บริษัทในเครือกลุ่มธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมีที่มีผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงในการผลิตปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง"นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 58 นี้ โรงกลั่นน้ำมันในกลุ่ม ปตท. สามารถดำเนินการผลิตในอัตราที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ตามแผนงาน(Major Turnaround) ส่งผลให้ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 58 ของ ปตท.และบริษัทย่อยมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าจำนวน 4,324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.7% จาก 2,813 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 57

สำหรับสัดส่วนกำไรของผลประกอบการ PTT ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มาจากธุรกิจของ ปตท.34% ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจก๊าซฯ-น้ำมัน-เทรดดิ้ง-NGV, ธุรกิจ PTTEP 14%, ธุรกิจปิโตรเคมี 16%, ธุรกิจโรงกลั่น 24% และธุรกิจอื่นๆ 12%

นายไพรินทร์ กล่าวถึงการขายพื้นที่ของธุรกิจปาล์มน้ำมันอินโดนีเซียว่า ขณะนี้ได้มีการขายไปแล้ว 3 แปลง คงเหลืออีก 2 แปลงที่จะทยอยขายออกไป โดยการขายพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อกำไรของ ปตท.เนื่องจาก ปตท.ได้มีการบันทึกการด้อยค่าธุรกิจดังกล่าวไปหมดแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ