(เพิ่มเติม) UPA เผยบ.ในเครือซื้อเทคโนโลยี พร้อมเปิดบริการ Mozer สำหรับองค์กร มองเป็นโอกาสสร้างรายได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 4, 2015 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวัฒน์ อินมุตโต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟอร์เมติกซ์ พลัส จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการเข้าลงนามในสัญญาซื้อเทคโนโลยี Mobile Communication Platform (Where team talk) และบริการ Mozer Mobile Communication Platform สำหรับองค์กรธุรกิจ กับ บริษัท อีออฟฟิศ ออนไลน์ จำกัด
สาเหตุที่จะจัดซื้อเทคโนโลยีดังกล่าว เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูง จึงส่งผลให้ Mobile Penetration มีการขยายตัวสูงสุด โดยตัวเลขผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 45 ล้านคน ขณะที่สมาร์ทโฟนมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน หลังจากที่ราคาเริ่มต้นของสมาร์ทโฟนลดลงจากเดิมปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 3,000 บาท เหลือ 1,500 บาท จึงทำให้ภาพรวมมูลค่าตลาดสื่อสารในปี 2557 เติบโตสูง และสภาพแวดล้อมทาง Network ได้แก่ โครงข่าย 3G และ 4G ที่มีความพร้อมสูง ผู้ให้บริการ Operator ต่างพร้อมบริการอย่างเต็มที่
การเลือกซื้อเทคโนโลยีนี้ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพนอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีใกล้เคียงกัน ตัวเลขรายได้ล่าสุดปี 2014 (อ้างอิงhttp://wintergreenresearch.com/reports/PoC.htm) รายได้เฉพาะ Push to talk ในปี 2014 ทั่วโลกรวมทั้งหมดประมาณ $3.5billion ไม่รวม กับ subscriber revenue หรือประมาณ 125,000 ล้านบาท หรือในประเทศไทย ปี 2014 มีการจัดซื้ออุปกรณ์ในเทคโนโลยีวิทยุสื่อสารอนาลอค และ Trunk Radio ประมาณ 1,200 ล้านบาท แต่เทคโนโลยีที่บริษัทจะซื้อ Push to talk เป็นเพียงหนึ่งใน Feature เท่านั้น และ Push to talk ยังมีความสมบูรณ์มากกว่าบริการทั่วไปที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบ Analog เดิมได้ และ มี Feature ที่มากกว่า เช่น ระบบ Cloud, Mobile Voice over ip, ระบบถ่ายทอด ระบบการจัดการโครงสร้างองค์กร หรือกล่าวได้ว่ามีความทันสมัยกว่า ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดสำหรับองค์กร
“การซื้อเทคโนโลยีจะทำให้ Mozer เป็น Mobile Communication Platform ของบริษัท อินฟอร์เมติกซ์ พลัส ที่มีความสมบูรณ์และมีจุดแข็งที่เป็นเทคโนโลยีของประเทศไทยที่มีมาตรฐาน ยืดหยุ่นรองรับทุกความต้องการของหน่วยงาน และสามารถ Implement ให้รองรับภารกิจในหน่วยงานต่างๆ ได้ทันที และประวัติที่ผ่านมา Products นี้ได้ถูกใช้ใน หน่วยงานราชการต่างๆ มากมาย รวมถึง งานราชพิธีสำคัญ Bike for mom เพื่อควบคุมการสื่อสารของหน่วยงานผู้ปฏิบัติ ตำรวจ ทหาร แพทย์ นักข่าว" นายสุวัฒน์ กล่าว
นายสุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเติมเต็มและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กร การซื้อเทคโนโลยีนี้จึงสามารถตอบโจทย์ ตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัทที่จะสร้างรายได้ที่ดีและสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับผู้ถือหุ้น นอกจากนี้หากมีโอกาสทางธุรกิจ ประเมินแล้วว่ามีความคุ้มค่าสำหรับการลงทุนและตลาดมีความพร้อม บริษัทก็พร้อมที่จะลงทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจให้แข็งแกร่งเช่นกัน
“เราเริ่มเข้ามาปรับปรุง อินฟอร์เมติกซ์ พลัส ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนปีนี้ภาพรวมการดำเนินธุรกิจด้วยความร่วมมือของ Partner จะเริ่มทำการขาย เข้าถึงลูกค้าหน่วยงานองค์กรอย่างเร็วที่สุด สร้างช่องทางการนำเทคโนโลยีไปเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรสำหรับลูกค้าได้รวดเร็วที่สุด เพราะจะทำให้ Mozer Platform มีความสมบูรณ์ เป็น Off the shelf Product พร้อมสำหรับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับลูกค้าที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้วิทยุสื่อสารอนาล๊อคเดิมและกลุ่มธุรกิจที่เป็นลักษณะภาคสนาม เช่น หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจบริการภาคประชาชน โรงพยาบาล ทหาร ตำรวจ ส่วนโครงสร้างรายได้ของบริษัทเดิมมาจากธุรกิจเกมส์เป็นเทคโนโลยีเก่า ปัจจุบันเป็นยุคโมบายและบริษัทได้เป็นผู้นำเรื่อง Mobile Communication Platform ขนาดตลาดใหญ่มาก การรับรู้รายได้จะมาจากองค์กร ภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ " นายสุวัฒน์ กล่าว
อนึ่ง Mozer ประกอบด้วย คุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้ 1.Push to talk Platform หรือ ระบบวิทยุสื่อสารแบบดิจิตอล 2.ระบบการจัดการ ผู้ใช้งาน การจัดกลุ่ม การกำหนดสิทธิ ได้อิสระ 3. ระบบ Mobile Voice over ip หรือ Free secure call การโทรผ่าน Data Package มีความคมชัดกว่า Free Application ทั่วไป และสามารถเชื่อมต่อระบบกับระบบ Voice over ip หรือ IP Phone ขององค์กรได้ 4.ระบบถ่ายทอดสด สัญญาณภาพเสียง ผ่าน Mobile 5.ระบบ Mobile tracking และ 6.ระบบควบคุม Dispatcher สำหรับศูนย์ควบคุมสั่งการ การสื่อสาร

นายมนตรี ศรีสกุล รองประธานบริหาร บมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) เปิดเผยว่า บริษัทฯคาดผลประกอบการจะพลิกมีกำไรสุทธิไตรมาส 3/58 จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีการทยอยโอนโครงการคอนโดมิเนียมที่เขาใหญ่ มูลค่าโครงการราว 170 ล้านบาท จำนวน 40 กว่ายูนิต ซึ่งขายได้แล้วกว่าครึ่งหรือกว่า 20 ยูนิต และบริษัทมีรายได้จากดอกเบี้ยรับที่บริษัทมีเงินจากการระดมทุนไว้ ก็ไปฝากแบงก์กินดอกเบี้ย

นอกจากนี้ หากกระบวนการซื้อหุ้นบริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด (APU) สัดส่วน 93% เสร็จสิ้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 นี้ ก็จะสามารถรับรู้รายได้จากการขายไฟของ APU เฟสแรก 6-20 เมกะวัตต์ ให้กับโครงการทวาย พม่า เข้าเป็นรายได้ให้บริษัทหรือประมาณ 6-8 ล้านบาท/เดือน ซึ่งจะหนุนให้ผลงานเป็นบวกตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้ ก็จะทำให้ UPA มีกำไรตั้งแต่ไตรมาส 3/58 ขณะที่ค่าใช้จ่าย UPA น้อยมาก

ส่วนที่ดินเปล่า 135 ไร่ ที่เขาใหญ่ อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ซื้อ และอยู่ระหว่างประเมินราคา โดยบริษัทมีแผนจะขายทั้งหมด 135 ไร่ ปีนี้น่าจะได้สรุปผู้ที่จะมาซื้อ แต่จะขายได้หมดกี่ไร่ ยังบอกไม่ได้

ส่วนธุรกิจไอที ผ่าน บ.อินฟอร์เมติกซ์ พลัส ซึ่ง UPA ถือหุ้น 100% งบลงทุนปีนี้ตั้งไว้ 170 ล้านบาท คาดจะมีรายได้ใน 1-2 ปีนี้ ราว 500 ล้านบาทเฉพาะในประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังมีเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เพื่อขยายตลาดต่างประเทศตั้งงบไว้ราว 170 ล้านบาทเช่นกัน

ทั้งนี้ บ.อินฟอร์เมติกซ์ พลัส ปัจจุบันมีผลขาดทุนจากธุรกิจ(เกมส์) เดิมอยู่ จึงต้องเปลี่ยนแนวธุรกิจจากเกมส์ไปแพลทฟอร์มอื่น ซึ่งอินฟอร์เมติก พลัส เมื่อมีรายได้เข้ามา UPA ก็สามารถรับรู้รายได้ด้วย เพราะนอกจากเซ็นสัญญากับอีออฟฟิศ ฯ แล้ว มีแผนที่จะไปเวียนดนาม อินโดนีเซีย และพูดคุยกับโอเปอเรเตอร์ทุกรายได้ในไทย" นายสุวัฒน์ กล่าว

" UPA เน้นธุรกิจพลังงาน ซึ่งมีลูกหลายบริษัทที่ค้างอยู่ ก็ต้องฟื้นฟูบริษัทลูกทั้งหมด ก็คาดว่าจะมีธุรกิจอื่นตามมาเรื่อยๆหลังจากที่เปลี่ยนธุรกิจเกมส์ของอินฟอร์เมติกส์ฯ เป็นธุรกิจไอที เพราะมองว่าธุรกิจไอทีเป็นธุรกิจที่เร็วมากแต่เสี่ยงสูงจึงตัดสินใจเข้า ถึงแม้จะเสี่ยงสูงแต่ก็ชัวร์ เพราะทุกองค์กร 20 กระทรวง และภาคเอกชนกว่า 7,000 บริษัทมีความต้องการไอทีแน่นอน"นายมนตรี กล่าว

แท็ก เอเชีย   mobile  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ