บลจ.กรุงไทย ออกกองตราสารหนี้ตปท. 6 เดือน คาดผลตอบแทน 1.7%ต่อปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 22, 2015 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่าย 2 กองทุนตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ เอ็นแฮนซท์ 26 (KTSUPE26) เสนอขายวันที่ 23-29 กันยายน 2558 อายุ 6 เดือน เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภท MTN ที่ออกโดย Banco Latinoamericano de Comercio Exterior ,S.A , ออกโดย Standard Bank of South Africa , เงินฝากประจำ Bank of China ( Macau ), Turkiye Garanti Bankasi A.S. , และ Yapi Kradi Bankasi ในสัดส่วน 78% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ประเภทตั๋วแลกเงิน และตราสารภาครัฐ ผลตอบแทนประมาณ 1.70% ต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายรอบใหม่ (Roll Over) ของกองทุนเปิดกรุงไทย ประจำ 3 เดือนคุ้มครองเงินต้น 1 (KTFIX3M1) เสนอขายในวันที่ 21-25 กันยายน 2558 เน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ประเภทพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ในสัดส่วน 81% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝากธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ผลตอบแทนประมาณ 1.10% ต่อปี

สำหรับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ มีการปรับตัวลดลงเกือบทุกช่วงอายุตามแรงซื้อกลับของนักลงทุนต่างชาติ หลังค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม เช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้เริ่มมีเม็ดเงินกลับเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรในประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิจำนวน 3,047 ล้านบาท

ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินที่ไร้เสถียรภาพขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง -2 bps.มาอยู่ที่ 0.69% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง -7 bps. มาอยู่ที่ 1.45% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง -7 bps.มาอยู่ที่ 2.13% ต่อปี สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็นทิศทางเศรษฐกิจโลก และทิศทางการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ