KTIS คาดกำไรปี 59 ดีกว่าปีนี้ ด้านรายได้โต 10% จากเริ่มรับรู้ฯโรงไฟฟ้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 5, 2015 09:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบมจ. เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้ปี 59 จะเติบโตราว 10% และกำไรสุทธิก็น่าจะดีกว่าปี 58 โดยจะมีสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากวัตถุในการผลิตน้ำตาล 40% และธุรกิจน้ำตาล 60%

ส่วนผลประกอบการในปี 58 บริษัทฯยังคงคาดการณ์รายได้และกำไรปีนี้จะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากปีก่อนมีรายได้อยู่ที่ 20,376 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 1,365 ล้านบาท เป็นผลมาจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ระดับ 10.5 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่สัดส่วนรายได้ของ KTIS ในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังมาจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาลประมาณ 74% ที่เหลือจะมาจากธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ 26% และน่าจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นในปี 59

"เราคาดว่าสัดส่วนรายได้ในปีหน้าจะมาจากโรงไฟฟ้า 40% ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันรายได้ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็นธุรกิจที่สามารถลดความเสี่ยงได้ จากเดิมเราจะเน้นในธุรกิจน้ำตาลเป็นหลัก ทำให้มีความเสี่ยงสูงจากราคาน้ำตาลโลกที่ผันผวน" นายประพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยจำนวน 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลจ.อุตรดิตถ์ คาดว่าจะขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปีนี้ และอีก 1 แห่ง ที่จ.นครสวรรค์ คาดว่าจะสามารถขายไฟฟ้าได้ในต้นปี 59 ซึ่งจะส่งผลทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรสำหรับโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) กำลังการผลิต 400 ตันต่อวัน และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) กำลังการผลิต 500 ตันต่อวัน คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ภายในไตรมาส 4/58 และจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาเลย รวมถึงจะส่งผลดีต่ออัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน และน่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 5 ปีจากนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯมองราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากเชื่อว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยราคาน้ำตาลปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 13 เซนต์/ปอนด์ และคาดว่าในปีหน้า ราคาน้ำตาลจะเฉลี่ยอยู่ที่ 13.5-15 เซนต์/ปอนด์ จากซัพพลาย-ดีมานต์ ของราคาน้ำตาลเกินดุล และประเทศจีนจะมีการนำเข้าน้ำตาลมากขึ้น จากได้รับผลกระทบปัญหาภัยแล้ง (เอลนีโญ) รวมถึงมีสต็อกน้ำตาลโลกในปริมาณที่สูง


แท็ก เนชั่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ