(เพิ่มเติม) SCBS มอง SET Index ปี 59 มีศักยภาพไปถึง 1,800 หลังผ่านความผันผวนปลายปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 7, 2015 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์(SCBS) กล่าวว่า SCBS ประเมินดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย(SET Index)ปีนี้จะอยู่ที่ 1,450 จุด และมีแนวรับ 1,300 จุด บนคาดการณ์ EPS อยู่ที่ 80-90 บาท/หุ้น และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ(GDP)เติบโตราว 2.5%

ขณะที่ปี 59 คาดการณ์ EPS Growth จะเติบโตราว 15-20% และ GDP ไทยจะเติบโตได้ 3% โดย SET Index ยังถือว่ามีศักยภาพที่จะขึ้นไปถึงระดับ 1,800 จุดได้ จากปัจจัยสำคัญ คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะไม่ส่งผลกระทบทางลบไปทั่วโลก และนโยบายภาครัฐที่จะต้องออกมาอย่างต่อนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนต่างๆ ที่จะทำให้เกิดแรงส่ง และแรงดึงดูดการลงทุนทั้งนักลงทุนไทย นักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

นายอิสระ กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัวผันผวนอย่างไร้ทิศทางจนถึงปลายไตรมาส 4/58 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ดัชนีปรับลง 5.7% โดยต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกเนื่องจากความไม่แน่นอนหลายอย่างยังจะคงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะความแตกต่างในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศสำคัญๆ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก

ทั้งนี้ เฟดส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงจะส่งผลต่อค่างินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญอื่นๆ และจะส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงตลาดการเงินด้วย ขณะที่มาตรการ QE ทั้งของยุโรปและญุ่ปุ่น ก็น่าจะมีการกระตุ้นเพิ่มเติมอีก ประกอบกับจีนที่เคยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 7% ในปีนี้ แต่ดูเหมือนว่าตัวเลขสำคัญๆที่ออกมา ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งน่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนออกมาเพื่อรักษาระดับการเติบโต ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะสร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ตลาดหุ้นยังจะไม่ปรับสู่ขาลงระยะยาว อีกทั้งตลาดโลกยังคงเต็มไปด้วยสภาพคล่องจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยถึงแม้ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงแข็งแกร่ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยต้านทานความผันผวนในไตรมาสนี้ได้

“ไตรมาสที่ 4 ปีนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่ราบรื่นนักสำหรับการลงทุน แม้สภาพคล่องโดยรวมของตลาดจะมีมากเกินพอ แต่นักลงทุนจะใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงจากทั่วโลกอยู่ในระดับสูง โดยประเมินว่านักลงทุนในตลาดหุ้นจากทั่วโลกจะนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดที่มีปัจจัยเหล่านี้ 1.เสถียรภาพดี 2.มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ 3.ราคาหุ้นสมเหตุสมผล ซึ่งตลาดหุ้นไทยเองก็ถือได้ว่ามีความน่าสนใจ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะมีผลกระทบจำกัดต่อตลาดหุ้นไทย และจะมีแนวโน้มที่เป็นบวกมากขึ้นในระยะกลางเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มชัดเจน"นายอิสระ กล่าว

นายอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 59 ปัจจัยต่างๆ ภายในประเทศจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างจับต้องได้ โดยเฉพาะแผนการลงทุนของรัฐ อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะกลางที่ประกาศออกมาในไตรมาสก่อนจะส่งผลทางบวกต่อระบบเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และชนชั้นกลาง มองว่าจะส่งผลทางบวกต่อระบบเศรษฐกิจจริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและเกิดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น คาดน่าจะมีเม็ดเงินดังกล่าวที่จะเข้าสู่ระบบราว 7-8 หมื่นล้านบาท รวมถึงมาตรการอื่นๆที่จะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนการอุปโภคบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างจับต้องได้ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ช่วยเปิดโอกาสให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นตามศักยภาพ

หุ้น Top Picks ในไตรมาส 4/58 ที่ SCBS แนะนำจะอิงกับเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และด้านการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้ ประกอบด้วย บมจ.ซีพี ออลล์(CPALL)รายงานยอดสาขาเติบโตและเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง กำไรมีแนวโน้มปรับขึ้นได้อีกจากการขายหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร, บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) กำไรมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะสาขาทั้งหมดอยู่ในต่างจังหวัด

บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เป็นผู้ได้ประโยชน์รายใหญ่จากมาตรการกระตุ้น อสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งราคาหุ้นปรับตัวลงกว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน เมื่อเทียบกับกำไรที่คาดว่าจะเติบโตสูง และรายได้มีความแน่นอนสูง, บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการยกเลิกสัญญาและปฏิเสธสินเชื่อ อีกทั้งยังช่วยหนุนให้ประมาณการกำไรปรับขึ้นด้วย

และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มีสัญญาณบวกจากยอดจองห้องพักล่วงหน้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น

บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) วางแผนเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะจากตลาดเติมเงิน การติดตั้งเครือข่าย 3G/4G เสร็จจะส่งผลทำให้ต้นทุนลดลง และ EBITDA เพิ่มขึ้นในอนาคต

นายพรเทพ ชูพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.59 มากกว่าจะเป็นภายในปีนี้ ด้วยปัจจัยหลายๆด้าน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมองตลาดเกิดใหม่ อย่างประเทศมาเลเซีย ตุรกี บราซิล และอาร์เจนตินา น่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากที่สุด ขณะที่ไทยก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้างในระยะแรก แต่ในระยะยาวถือว่ามีความแข็งแกร่ง เห็นได้จากเงินทุนสำรองของประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ส่วนกระแสเงินทุนไหลไหลเข้า มองว่าหลังจากที่เฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจน เชื่อว่าจะมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย หลังจากก่อนหน้านี้ต่างชาติมีการขายสุทธิออกไปจำนวนมากแล้ว โดยหุ้นที่ต่างชาติจะมีความสนใจเข้าลงทุนก็จะเป็นหุ้นที่ได้มีการขายออกไป เช่น หุ้นกลุ่มคอมเมิร์ซ ธนาคารพาณิชย์ รับเหมาก่อสร้าง และค้าปลีก เป็นต้น อย่างไรก็ตามหุ้นกลุ่มพลังงานในปีนี้น่าจะมีการบันทึกขาดทุนจากสต็อกน้ำมันอยู่ แต่ในปีหน้าคาดว่าจะสามารถบันทึกกำไรจากสต็อกน้ำมันได้ บนสมมติฐานราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เฉลี่ยอยู่ที่ 55-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

“เฟดน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีหน้ามากกว่าจะเป็นปีนี้ คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนมี.ค.59 และหลังจากที่เฟดปรับขึ้นก็อาจจะมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาได้บ้าง แต่ก็ต้องรอดูความชัดเจนจากเฟดก่อนว่าจะปรับขึ้นได้เมื่อไหร่ ถ้าหากเฟดปรับขึ้นในปีนี้ ก็จะเห็นภาพของเงินทุนไหลเข้าในต้นปีหน้า"นายพรเทพ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ