PTT เข้มคุมลงทุนบ.ลูกเกิน 5 พันลบ.ต้องส่งบอร์ดก่อนหวั่นเจ๊งซ้ำรอยปาล์ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 21, 2015 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ปตท.จะมีความเข้มงวดมากขึ้นสำหรับการลงทุนในกลุ่ม ปตท.ทั้งหมด หลังเกิดกรณีการขาดทุนจากธุรกิจปาล์มในอินโดนีเซียที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายราว 2 หมื่นล้านบาท โดยจากนี้ไปหาก ปตท.และบริษัทลูกทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯจะลงทุนที่มูลค่าราว 5 พันล้านบาทขึ้นไปต้องส่งให้คณะกรรมการ ปตท.พิจารณา ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดความล่าช้าในการลงทุน แต่จะเป็นการสร้างความโปร่งใสและมีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่า
"แม้เวลานี้จะเป็นโอกาสในการซื้อโครงการหากเป็นโครงการที่ดี แต่ก็คงต้องดูให้รอบคอบว่ามีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์หรือไม่ เราไม่ต้องการเข้าไปซื้อโครงการแล้วเกิดปัญหาเหมือนในอดีต กระบวนการขั้นตอนภายในปตท.ก็จะมีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการลงทุนที่อาจจะไม่มีความคุ้มค่าในภายหลังอย่างที่เคยเกิดขึ้น ฉะนั้น ขั้นตอนการพิจารณากลั่นกรองโครงการก็จะมีความเข้มงวดมากขึ้น การติดตามประเมินผลก็จะทำอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งในส่วนของปตท. และบริษัทลูกที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การพิจารณาก็จะมีความรวดเร็ว แต่จะรัดกุมมากขึ้น ซึ่งจะต้องพิจารณาความเสี่ยงให้รอบคอบ แม้อาจจะมีขั้นตอนมากขึ้น ก็เชื่อว่าจะไม่ทำให้โครงการลงทุนมีความล่าช้าไปมาก เมื่อเทียบกับความผิดพลาดที่อาจจะส่งผลเสียได้อย่างมากมาย โดยโครงการที่มีความสำคัญของบริษัทลูกทั้งในและต่างประเทศจะต้องถูกส่งมาให้ฝ่ายบริหารของปตท.พิจารณา และหากมีจำนวนเงินลงทุนเกินระดับหนึ่ง หรือราว 5 พันล้านบาทขึ้นไป ก็จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการปตท.เป็นผู้พิจารณาต่อไป

สาเหตุที่มีการคุมเข้มการลงทุนของกลุ่มปตท.ในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่เกิดปัญหาการลงทุนในธุรกิจปาล์ม ที่อินโดนีเซีย โดยบริษัท บริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) ซึ่งล่าสุดปตท.อยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้องแพ่งกับอดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งที่พบว่ามีความผิดจากกรณีดังกล่าวเป็นมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาทตามความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกับยุติการลงทุนธุรกิจปาล์มดังกล่าว และเร่งขายพื้นที่ปลูกปาล์มที่มีอยู่ 5 แห่งให้หมด โดยล่าสุดขายได้แล้ว 3 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ

"จริงๆตามหลักการไม่มีอะไรเลย ซื้อของมาห่วย ใช้ไม่ได้ก็ต้องขายขาดทุน ของที่ซื้อมาใช้ไม่ได้ มีปัญหามากมาย ทั้งเรื่องคุณภาพดิน เอกสารสิทธิ...บอร์ดดูแล้วว่ายิ่งถือต่อไปก็ยิ่งขาดทุน การปลูกปาล์ม ผลิตปาล์ม ต้นทุนสูงมาก ยิ่งจะขาดทุนมากขึ้น ก็ทยอยขายออกไปเรื่อยๆจนกระทั่งเกือบจะจบแล้วในขณะนี้"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ปตท.ได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจปาล์มที่อินโดนีเซียตั้งแต่ช่วงปี 49-50 แต่ยังไม่เคยสามารถสร้างกำไรให้กับปตท.ได้เลย ขณะเดียวกันฝ่ายตรวจสอบของปตท.ก็ได้ตรวจสอบแผนการลงทุนควบคู่กันไปด้วย และพบว่ามีความผิดปกติตั้งแต่ช่วงปี 55 และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)สอบสวนต่อในช่วงต้นปี 56 เพื่อให้มีความโปร่งใสและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก

แต่ในส่วนของ ปตท.พบว่าความผิดปกติดังกล่าวมีผู้ที่เกี่ยวข้องของบุคคลากรในกลุ่ม ปตท.ทั้งหมด 5 คน ซึ่งรวมถึงอดีตผู้บริหารระดับสูงคนที่ถูกฟ้องทางแพ่งด้วย โดยแต่ละบุคคลมีความผิดแตกต่างกันไป ส่วนอดีตผู้บริหารระดับสูงคนดังกล่าว ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)ล่าสุดได้ถูกให้ออกจากงานแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ยืนยันว่าทิศทางการลงทุนของกลุ่มปตท.ต่อธุรกิจปาล์มในช่วงเวลาดังกล่าวนับว่าถูกต้อง แต่อาจจะด้วยความไม่คุ้นชินในธุรกิจและพื้นที่ รวมถึงมีความเสี่ยงด้านข้อกฎหมายต่างๆ เพิ่มเข้ามา ทำให้การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากการตรวจสอบที่พบว่าอดีตผู้บริหารมีการกระทำผิดทางวินัยที่ส่อไปในทางทุจริตด้วย

แต่นายปิยสวัสดิ์ เห็นว่าการลงทุนในธุรกิจถ่านหินที่อินโดนีเซียของกลุ่มปตท.มีความแตกต่างจากธุรกิจปาล์ม เพราะธุรกิจถ่านหินยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตต่อได้ โดยในช่วงก่อนหน้านี้ก็สามารถทำกำไรได้ดี แต่เมื่อราคาถ่านหินตกลงตามภาวะตลาดโลกทำให้กำไรหายไป แต่ไม่ถึงระดับการขาดทุน เพียงแต่ต้องกลับมาปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้มากขึ้น อีกทั้ง ถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการใช้มากขึ้น

สำหรับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำในช่วงนี้ จะกระทบต่อโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมของ PTTEP มากที่สุดที่อาจต้องประหยัดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำสุด และหลายโครงการอาจต้องมีการด้อยค่าสินทรัพย์ลงไป รวมถึงบางโครงการอาจจะยังไม่คุ้มค่าที่จะผลิต เช่น โครงการออยล์แซนด์ในแคนาดา ส่วนโครงการโมซัมบิก ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ แต่ยังเชื่อว่าโครงการโมซัมบิก ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่นั้น ยังเป็นโครงการสำคัญที่จะสามารถป้อนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาเสริมระบบความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวของประเทศไทยได้

"บางโครงการอาจยังไม่คุ้มค่านำขึ้นมาได้ เช่น ออยล์แซนด์ อาจจะเป็นตัวที่หนักหน่อย หนักกว่าโมซัมบิก แต่ถ้าตอนนี้จะขายราคาก็คงไม่ดี คนที่จะซื้อก็คงไม่อยากซื้อ การซื้อการขายก็ทำได้ แต่ควรทำหรือไม่ในช่วงเวลานี้...ถ่านหินก็เช่นกัน"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ เชื่อว่าราคาพลังงานในท้ายที่สุดแล้วจะปรับตัวขึ้นมาได้ แต่ราคาน้ำมันอาจจะไม่ขยับขึ้นถึงระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในเร็ววันนี้ แต่หากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำที่กว่า 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเหมือนในปัจจุบัน ก็เชื่อว่าโครงการผลิตปิโตรเลียมใหม่ของทั่วโลกก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้การผลิตปิโตรเลียมโดยรวมลดลง และราคาน้ำมันก็จะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับตัวมาอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจผลิตปิโตรเลียม และถ่านหินแล้ว แต่ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่นน้ำมันจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะส่วนต่าง(สเปรด)ผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในระดับที่ดี ยกเว้นที่โรงกลั่นอาจจะมีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเพียงผลขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท.จะได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะ ปตท.เป็นเพียงผู้ซื้อและจำหน่ายพร้อมจัดส่งให้กับผู้ใช้ในไทย ซึ่งความต้องการใช้ก๊าซฯอาจจะไม่เพิ่มขึ้นมากอย่างที่คาด แต่ก็เชื่อว่าประเทศไทยยังมีการเติบโต ซึ่งจำเป็นต้องใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ