บลจ.ไทยพาณิชย์ ออก RMF 3 กอง ลงทุนหุ้นยุโรป-ญี่ปุ่น-โกลบอลเฮลธ์แคร์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 26, 2015 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมออกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) พร้อมกัน 3 กองทุนประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยุโรป เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCB EUROPEAN EQUITY RMF) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นญี่ปุ่น เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCB JAPAN EQUITY RMF) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลเฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (SCB GLOBAL HEALTHCARE RMF) มูลค่ากองทุนละ 5,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 58

ขณะที่มองเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในกลุ่มประเทศยูโรโซน ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะได้รับผลบวกจากความคาดหวังการที่รัฐบาลจะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก หลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว ด้านหุ้นในกลุ่มเฮลธ์แคร์ นับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว เนื่องจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น

นายสมิทธ์ กล่าวว่า กองทุน RMF ทั้ง 3 กองนี้จะมีรูปแบบการลงทุนที่เหมือนกับกองหุ้นยุโรป หุ้นญี่ปุ่น และ หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์ที่บริษัทเคยนำเสนอก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทยังเล็งเห็นปัจจัยเชิงบวกในตลาดหุ้นทั้ง 3 กลุ่มในอนาคต จึงมองว่าเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนที่ สามารถรับความเสี่ยงได้สูงและต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทน ระยะยาวพร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ทั้งนี้นโยบายของการลงทุนทั้ง 3 กองทุน เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และทุกกองทุนได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในสกุลเงินต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่เทียบกับสกุลเงินบาท

โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยุโรป เพื่อการเลี้ยงชีพ ลงทุนใน iShares STOXX Europe 600 (DE) ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Exchange Traded Fund (ETF) จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมันนี และอยู่ภายใต้ UCITS บริหารงานโดย BlackRock Asset Management Deutschland AG และลงทุนในสกุลเงินยูโร โดยจะลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี STOXX Europe 600 เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี STOXX Europe 600 ดังกล่าว โดยผลตอบแทน iShares STOXX Europe 600 (DE) ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 3.01% 3 ปี อยู่ที่ 27.74% และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 29.39%

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่นเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงทุนใน Nikkei 225 Exchange Traded Fund ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Exchange Traded Fund (ETF) บริหารโดย Nomura Asset Management Co.,Ltd. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และลงทุนในสกุลเงินเยน เน้นลงทุนหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 และหุ้นที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225 เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ไปในทิศทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกับดัชนีนิคเคอิ 225 โดยผลตอบแทน Nikkei 225 Exchange Traded Fund ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 6.22% 3 ปี อยู่ที่ 95.70 % และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 91.49%

ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลเฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ ลงทุนใน Janus Global Life Sciences Fund เป็นกองทุนที่มีการบริหารเชิงรุก โดย Janus Capital Management LLC จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศไอร์แลนด์และอยู่ภายใต้ UCITS และลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences) ได้แก่ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง การแพทย์หรือเภสัชกรรม รวมไปถึงบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตหลักมาจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตร หรือตลาดอื่นใดที่ได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต โดยผลตอบแทน Janus Global Life Sciences Fund ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 7.38% 3 ปี อยู่ที่ 116.75% และย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 188.01%

นายสมิทธ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุน ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจยุโรป โดยคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนจะยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในกลุ่มประเทศยูโรโซนเอง เนื่องจากตลาดแรงงานกำลังทยอยปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับภาคธนาคารในยุโรปเองก็เริ่มมีความแข็งแรงมากขึ้นจากนโยบายสนับสนุนสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งส่งผลให้เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาขยายสินเชื่อจะเป็นกำลังสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกแรง

ทั้งนี้ ในระยะถัดไปคาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังคงดำเนินมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ในยุโรปทรงตัวในระดับต่ำ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเคลื่อนย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มผลกำไรบริษัทจดทะเบียนเองก็กำลังปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้แนวโน้มค่าเงินยูโรอ่อนค่าจะช่วยสนับสนุนกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งรายได้กว่าครึ่งมาจากนอกทวีปยุโรป

ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายธนูสามดอกของนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งตั้งเป้าที่จะนำพาเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาขยายตัวดีอีกครั้ง ในปีนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ได้รับปัจจัยบวกหลายอย่างได้แก่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันของสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น ภายหลังที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า

นอกจากนี้กองทุนบำนาญของญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นกองทุนบำนาญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารกว่า 140 ล้านล้านเยน หรือกว่า 43 ล้านล้านบาท ก็ได้กำลังทยอยปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะสั้นอาจจะยังมีความผันผวนสูงอยู่เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ดังนั้นการชะลอตัวของจีนจึงส่งผลด้านลบต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่าการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงจะเป็นการเร่งให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นและรัฐบาลเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปอีก ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะถัดไป

ส่วนหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ทั่วโลก มองว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว เนื่องจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุว่าสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 1950 เป็น 17% ในปี 2050 ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ที่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูงกว่ากลุ่มอื่นกว่า 3 เท่า ขณะที่นวัตกรรมทางการแพทย์และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทมียอดขายและบริการทางการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ