ผู้บริหารบลจ.มองปีหน้ากองทุนยังเด่นจากจุดแข็งกระจายความเสี่ยงได้ทั่วโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 5, 2015 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย (TMBAM) เปิดเผยในงานสัมมนา "TMB Open Architecture : The Economic Outlook 2016" ว่า บริษัทฯยังมีความเชื่อว่ากองทุนรวมยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของผู้ที่สนใจจะลงทุน เนื่องด้วยมีการกระจายความเสี่ยงออกไปทั่วโลก

อย่างของบริษัทฯก็ได้มีการเปิดตัวกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ สถาบันการเงินและเอกชนที่มีคุณภาพของไทย รวมไปถึงการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับนักลงทุนที่เคยถูกจำกัดการลงทุน หรือมีการกระจุกตัวของความเสี่ยง อีกทั้งยังมีกองทุนประเภทหุ้น SET50Index โดยเป็น Index Fund กองแรกของประเทศไทย ที่ให้ผลตอบแทนมาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน TMBAM มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) อยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้น่าเพิ่มขึ้น จากปี 57 ที่อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท เป็นผลจากเงินทุนที่น่าจะไหลเข้าในช่วงสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะจาก LTF อย่างไรก็ตามการลงทุนนักลงทุนควรลงทุนให้สอดคล้องไปกับวัตถุประสงค์ และจัดพอร์ตการลงทุนโดยเน้นน้ำหนักไปยังต่างประเทศมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของปัจจัยแวดล้อม

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) (UOBAM) กล่าวว่า ภาพรวมของการลงทุนในระยะสั้นของปี 58 น่าจะยังทรงตัว และคาดว่าจะมีแรงซื้อ LTF เข้ามาในช่วงเดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่คงไม่มากนัก โดยคาดไว้ราว 7,000-10,000 ล้านบาท จากปกติที่เคยอยู่ในระดับ 1.5-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในภาพรวมให้เติบโตได้ โดยมองดัชนีตลาดห้นไทยปีนี้น่าจะยังแกว่งตัวอยู่ในระดับ 1,400-1,450 จุด อัพไซต์ค่อนข้างจำกัด

ขณะที่ปี 59 มองว่าหลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้นนั้น ก็น่าจะส่งผลเชิงบวกและเห็นภาพชัดเจนได้ โดยกลุ่มที่มีความน่าสนใจในการลงทุนคือ กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐ เป็นต้น

ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ปีนี้ AUM น่าจะทำได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้ 2.93 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.8-2.9 แสนล้านบาทแล้ว โดยยังคงเน้นการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งหุ้นและตราสารหนี้

ด้านมุมมองการลงทุนในปี 59 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีความน่าสนใจลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การปฎิรูปโครงสร้างธุรกิจและนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ทำให้เงินเยนอ่อนค่า ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปญี่ปุ่นจำนวนมาก โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวเติบโตเฉลี่ยปีละ 29% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีรัฐบาลของนายซินโสะ อาเบะ ยอดขายบริษัททัวร์ในญี่ปุ่นเติบโตขึ้นกว่า 70% ในปีนี้ ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆมียอดขายเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

การลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กยังมีความน่าสนใจ จากศักยภาพในการเติบโตของหุ้นในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กทำธุรกิจที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ทาง UOBAM จึงนำเสนอกองทุนเปิด เจเปน สมอล แอนด์ มิด แคป ฟันด์ (JSM) ซึ่งลงทุนผ่านกองทุนหลัก United Japan Small and Mid Cap Fund

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า บริษัทประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นน่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามาใน LTF และยังจะเข้ามาต่อเนื่องถึงปี 59 แต่เม็ดเงินทุนที่ไหลเข้ามาอาจค่อนข้างน้อย เพราะตลาดหุ้นไทยมี P/E สูง ทำให้นักลงทุนให้น้ำหนักไปที่ตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุน การกระตุ้นภาคบริการ การท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐ รวมถึงความมั่นใจในทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบัน แต่ก็ยังมีปัจจัยลบที่กระทบตลาด จากความล่าช้าของโครงการภาครัฐ และนักลงทุนต่างชาติความเชื่อมั่นลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้าและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

รวมถึงปัจจัยลบจากต่างประเทศ ทั้งราคาน้ำมันผันผวน เศรษฐกิจโลกชะลอการฟื้นตัวและความกังวลเศรษฐกิจจีนชะลอและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งล้วนส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน จึงมองดัชนีปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 1,400 จุด และมีแนวรับถัดไปที่ 1,380 จุด

บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จึงนำเสนอกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม (CIMB-PRINCIPAL iBALANCED) ซึ่งจะปรับสัดส่วนการลงทุนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้อย่างสมดุลในสัดส่วนหุ้น 65% และตราสารหนี้ 35% เพื่อให้ทันสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ที่ผ่านมาสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีแม้ตลาดผันผวน โดยตั้งแต่ต้นปี 2558 - 28 ต.ค. 2558 ให้ผลตอบแทน 2.50% เมื่อเทียบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ผลตอบแทน -5.90%

จุดเด่นของกองทุนคือตั้งเป้าจ่ายคืนผลตอบแทนทุกไตรมาส โดยรับซื้อคืนอัตโนมัติประมาณ 2-2.5% ต่อไตรมาส หรือประมาณ 8-10% ต่อปี ทั้งนี้นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล บาลานซ์ อินคัม มีการจ่ายคืนผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4/56 จนถึงไตรมาส 3/58 รวม 8 ครั้ง ผลตอบแทนรวม 1.53 บาทต่อหน่วย

นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อเบอร์ดีน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากการบริโภคภายในประเทศและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบลจ.อเบอร์ดีน มองว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทขนาดเล็กในสหรัฐ ซึ่งมีรายได้หลักจากในประเทศ อีกทั้งได้รับผลกระทบจากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้มาจากการส่งออกมากกว่า จึงนำเสนอกองทุน “อเบอร์ดีน อเมริกัน โกรท - สมอลเลอร์ คอมพานี ฟันด์" (ABAGS) ซึ่งเป็นกองทุนใหม่ที่เปิดขาย IPO ไปก่อนหน้านี้และจะเปิดขายอีกครั้งในวันที่ 6 พ.ย. 2558

กลยุทธ์การลงทุนของอเบอร์ดีนจะเน้นลงทุนในบริษัทจำนวนไม่มาก ปัจจุบันลงทุนใน 46 บริษัทที่มีรูปแบบธุรกิจที่มีคุณภาพ และมีงบการเงิน พร้อมทั้งกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นได้ในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวน

ทั้งนี้ กองทุน ABAGS จะลงทุนผ่านกองทุนหลักชื่อ อเบอร์ดีน โกลบอล-นอร์ธ อเมริกัน สมอลเลอร์ คอมพานี ฟันด์ บริหารโดยทีมผู้จัดการกองทุนในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐ และเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนอยู่ในลำดับต้นๆ ของกลุ่มกองทุนหุ้นสมอลแค็ปในสหรัฐอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดเวลา 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี โดยกองทุนจะลงทุนในหุ้นที่มีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่เกิน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ วันที่ลงทุนครั้งแรก

ด้านนายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บลจ.แมนูไลฟ์ มองว่า ภูมิภาคเอเชียยังเป็นแกนนำการขับเคลื่อนและสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในอนาคตข้างหน้า ซี่งมีแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศจากจำนวนประชากรที่สูงมาก ประกอบกับการลดลงของราคาพลังงานและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ช่วยให้แนวโน้มผลประกอบการของหลายธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยประเทศหลักๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ได้แก่ จีน อินเดีย ไต้หวัน และเกาหลี เป็นต้น

“กลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญ คือ ต้องเข้าลงทุนก่อนคนอื่นเพื่อสามารถลงทุนในระดับราคาที่ยังต่ำและมีโอกาสในการทำกำไรสูงเมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเริ่มได้รับความสนใจในกลุ่มนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นเริ่มวิ่งเข้าสู่ระดับเป้าหมายและเป็นจังหวะที่กองทุนจะเริ่มทยอยขายทำกำไรและหาหุ้นขนาดเล็กตัวใหม่เพื่อลงทุนต่อไป

ทั้งนี้ การบริหารพอร์ตการลงทุนแบบเชิงรุกด้วยการใช้ข้อมูลเชิงลึกในการตัดสินใจลงทุนดังกล่าว จำเป็นต้องมีความพร้อมและความเชี่ยวชาญของทีมงานการลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่ง Manulife Asset Management มีความได้เปรียบทางด้านนี้ เนื่องจากเรามีทีมผู้เชี่ยวชาญตลาดตราสารทุนที่ประจำอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียเกือบ 80 ท่าน ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) ให้แก่กองทุนได้อย่างต่อเนื่อง" นายต่อ กล่าว

ปัจจุบันกองทุนเปิด แมนูไลฟ์ สเตร็งค์ เอเชียน สมอลแคป อิควิตี้ เอฟไอเอฟ (MS-ASIAN SM) มีนโยบายการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กในเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ผ่านกองทุนหลัก คือ Manulife Global Fund-Asian Small Cap Equity Fund (Class I) โดยกองทุนเข้าลงทุนเมื่อเดือนพ.ค. 2556 ในราคาที่เข้าลงทุนครั้งแรก 1.93 ดอลลาร์ฮ่องกง และล่าสุดวันที่ 28 ต.ค. 2558 อยู่ที่ 10.54 ดอลลาร์ฮ่องกง โดยมีผลตอบแทนรวม +446%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ