(เพิ่มเติม) KKP มั่นใจปีนี้กำไรใกล้เคียงปีก่อน แม้คาดสินเชื่อหด 2-3% คุม NPL ไม่เกิน 5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 9, 2015 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเกียรตินาคิน(KKP)คาดว่ากำไรในปีนี้จะทำได้ใกล้เคียงปีก่อน แม้ว่าสินเชื่อจะหดตัวราว 2-3% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินของธนาคารลดลง และช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ NIM เพิ่มขึ้นมาที่ราว 4.2% จากปี 57 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.8% ขณะที่ธนาคารมีเป้าหมายคุมสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในปีนี้ไว้ไม่เกิน 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 6%

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ KKP เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปีนี้คาดจะติดลบ 2-3% จากพอร์ตสินเชื่อรวมที่อยู่ในระดับ 1.8 แสนล้านบาท เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อลดลง 5% แต่ขณะนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น และสินเชื่อขนาดใหญ่และสินเชื่อเอสเอ็มอียังขยายตัวได้ดีอยู่ ทำให้ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อน่าจะฟื้นตัวได้ในปี 59

"การปล่อยสินเชื่อปีนี้ยอมรับว่าน่าจะลดลง จากสินเชื่อเช่าซื้อที่ลดลงมาราว 5% เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แต่สินเชื่อขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และสินเชื่อธุรกิจยังขยายตัวได้ดี"นายอภินันท์ กล่าว

ทั้งนี้ ธนาควรประเมินว่ายอดการปล่อยสินเชื่อในปี 59 อาจจะเติบโตได้แต่คงไม่ถึง 10% เป็นไปตามการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้าที่ประมาณการไว้ในระดับที่ระดับ 3.5% แม้ว่าจะมีมาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์เข้ามากระตุ้น แต่น่าจะส่งผลดีโดยตรงต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ เทียบกับธนาคารจะได้รับผลบวกไม่มากนัก

นายอภินันท์ กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าลดต้นทุนทางการเงินลดลงมาอยู่ที่ 2.6-2.7% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.9% โดยจะพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดีขึ้น ขณะที่ NPL ปัจจุบันอยู่ที่ 6% โดยธนาคารจะควบคุม NPL สิ้นปีนี้ให้อยู่ที่ไม่เกิน 5% ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารมีหลักประกันมากกว่ามูลหนี้จำนวนมาก จากที่ผ่านมา NPL เพิ่มขึ้นจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ขณะที่สินเชื่อขนาดใหญ่และสินเชื่อเอสเอ็มอียังขยายตัวได้ดี

นอกจากนี้ ธนาคารคาดกำไรสุทธิปี 58 จะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ที่ 2.6 พันล้านบาท เนื่องจากนำเงินตั้งสำรองเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากปัจจุบันธนาคารฯตั้งเงินสำรองไว้ถึง 170% ซึ่งมากกว่าเมื่อเทียบกับเกณฑ์การตั้งสำรองทั่วไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดรวมถึงธนาคารจะเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้ เพื่อชดเชยกับยอดปล่อยสินเชื่อที่หดตัวลง โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ยอยู่ที่ 60% จากเดิมอยู่ที่ 90% ขณะที่ NIM หรือส่วนต่างดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.2% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 3.8% ซึ่งจะช่วยผลักดันกำไรสุทธิให้เติบโตไปได้

สำหรับการรุกธุรกิจ Private Banking อย่างเป็นสากลและเต็มรูปแบบ ของธนาคารฯ เพื่อขยายฐานลูกค้าและตอบสนองความต้องการในการลงทุนที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้า Wealth Managent ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยผสานความเชี่ยวชาญของทีมที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคลของ บล.ภัทร เข้ากับฐานลูกค้าและช่องทางการให้บริการของธนาคาร

ล่าสุด ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ชื่อ Lombard Loan หรือสินเชื่อหมุนเวียนอเนกประสงค์ที่เสนอให้กับกลุ่มลูกค้า Wealth Management ของ บล.ภัทร เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องและสร้างโอกาสในการบริหารเงินลงทุน ทั้งนี้ Lombard Loan ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับลูกค้าที่มีทรัพย์สินทางการเงินหรือพอร์ตลงทุนกับ บล.ภัทร โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการเบิกใช้สินเชื่อ จึงสามารถใช้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน หรือเพิ่มอัตราผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน ผ่านการนำเงินสินเชื่อไปลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่าต้นทุนสินเชื่อ เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และตราสารอนุพันธ์ หรือพิจารณากระจายความเสี่ยงไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

Lombard Loan จึงเป็นการใช้ศักยภาพจากทรัพย์สินที่ถือครองโดยไม่สูญเสียผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องขายทรัพย์สินทางการเงินที่มีอยู่เดิมเพื่อการลงทุนใหม่ ปัจจุบันมีสินเชื่อเสนอให้แก่ลูกค้า 2 ประเภทคือ Flexible Term และ Fixed Term โดยมีที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคลของ บล.ภัทร เป็นผู้แนะนำ สินเชื่อดังกล่าวให้กับลูกค้าที่สนใจ ซึ่งธนาคารจะดำเนินการวิเคราะห์และจัดสรรสินเชื่อดังกล่าวให้กับลูกค้าปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้ Lombarn Lian วงเงินอนุมัติรวมกว่า 3,000 ล้านบาท โดยธนาคารตั้งเป้าภายใน 2 ปีข้างหน้าจะสามารถอนุมัติวงเงินได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ