"รพี สุจริตกุล"คุมบังเหียน ก.ล.ต.ขับเคลื่อนแผน 3 ปีปรับ vision ออกเกณฑ์กำกับ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 23, 2015 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ก.ล.ต.จะเสนอแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี(ปี 59-60)ต่อคณะกรรมการบริหารในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อวางทิศทางและบทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต.ในมุมมองใหม่ในการเป็น Eco-system
"แผน 3 ปีเรามีเป้าหมายว่าอยากเห็นอะไรในปีสุดท้าย อะไรที่เป็น intense outcome แล้วเราก็ค่อยๆทยอยทอนออกมาว่าจะทำอะไรให้เกิดขึ้นบ้างในแต่ละปี แผน 3 ปีที่จะเสนอบอร์ดเดือนหน้าก็มีค่านิยมองค์กรที่กำหนดขึ้นมา เปิดใจ รู้จริง ซื้อตรง ร่วมมือ เป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ทำงานได้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งมันเป็น Key ที่เราต้องการให้เจ้าหน้าที่มองการทำงานที่เป็น Ecosystem"นายรพี กล่าว

เลขาธิการ ก.ล.ต.ระบุว่า การเข้ามารับตำแหน่งครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นสะพานเชื่อมเพื่อทำให้การออกกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต.และ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ทำความเข้าใจกับภาคเอกชนเพื่อทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิผลเกิดขึ้นสูงสุด และส่งผลดีต่อตลาดทุนไทยและนักลงทุน

"ผมให้นโยบายกับเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.เป็นหลักปฏิบัติตามค่านิยมองค์กร ไม่ใช่แค่จะออกกฏอย่างเดียวเท่านั้นหรือทำไปเพื่อแก้ปัญหาบางปัญหาในขณะนั้น แต่เราอยากให้มองไปถึงผลลัพท์ในอนาคตข้างหน้าเป็นหลักว่าอยากให้สิ่งนั้นๆ เป็นแบบไหน ดังนั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่จะต้องทำความเข้าใจและเปิดใจรับฟังภาคเอกชนด้วยเวลาทำงานในการควบคุมดูแล เพราะคนทำธุรกิจชีวิตเขา 99% ทำงานหาเงิน ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับ Regulation ของเรา ซึ่งต่างจากเราที่เป็น Regulator โดยอาชีพ ซึ่งการเข้าไปควบคุมดูแลเขานั้น Key สำคัญคือจะทำอย่างไรให้เขาสามารถเข้าใจความสำคัญของที่เรากำลังบอกให้ทำ"นายรพี กล่าว

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ในแผน 3 ปีจะมีการตั้งเป้าหมายของการกำกับดูแลในทุกภาคส่วน เช่น ในกรณีของบริษัทจดทะเบียนจะมีการผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดี(Good Governance)ได้แก่ นโยบายบริษัท คุณสมบัติของกรรมการ โครงสร้างของคณะกรรมการ การประชุมคณะกรรมการและการสื่อสาร และการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและฝ่ายบริหาร ด้วยหลากหลายแนวทางนอกเหนือจากการออกกฎเกณฑ์ เช่น การทำความเข่าใจถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ว่ามีประโยชน์ต่อธุรกิจของเขาอย่างไร การส่งเสริมผู้ที่ปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ให้มีความต้องการยกระดับกิจการให้ได้ตามมาตรฐานของบริษัทที่ดี เป็นต้น

พร้อมกันนั้น นายรพี ยังได้ยกตัวอย่างของเป้าหมายการกำกับดูแลและการส่งเสริมบริษัทหลักทรัพย์(โบรกเกอร์)ว่า ก.ล.ต.เน้นคุณภาพการให้บริการลูกค้าเป็นหลัก โดยได้มีเกณฑ์มาตฐานขั้นต่ำที่ก.ล.ต.กำหนดไว้คอยควบคุม ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมดในประเทศไทยถือว่าทำได้ตามมาตรฐานที่ ก.ล.ต.กำหนด แต่เพราะจากการแข่งขันรุนแรงในธุรกิจโบรกเกอร์เนื่องจากจำนวนโบรกเกอร์ที่เพิ่มมากขึ้น และการคิดค่าธรรมเนียมที่อยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบด้านต่าง ๆในการทำธุรกิจ

ดังนั้น ก.ล.ต.จะมีแนวทางที่จะสนับสนุนให้โบรกเกอร์มีเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มานำเสนอกับลูกค้าเพื่อเพิ่มช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจ โดยก.ล.ต.จะพยายามช่วยแหลือและอำนวยความสะดวกให้ในเรื่องที่เป็นไปได้ เพื่อทำให้ธุรกิจโบรกเกอร์ของไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลูกค้ามีความพึงพอใจในการใช้บริการ ที่สำคัญคือต้องรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด

"หัวใจสำคัญของธุรกิจโบรกเกอร์ที่เราให้ความสำคัญ คือ การให้บริการที่ดีให้แก่ลูกค้า เครื่องมือและผลิตภัณฑ์ต่างๆก็เป็น option เสริมที่แต่ละโบรกจะใช้มาเสนอแก่ลูกค้า ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามอำนวยความสะดวกให้ แต่ไม่อยากให้โบรกทิ้งการบริการที่ดี"

"อย่างผมไปคุยกับฝรั่งมาเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯอยากให้มีการทำธุรรรมเป็นเงินตราต่างประเทศได้ แต่ฝรั่งเขาบอกผมว่าเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแล้วสำหรับเขาไม่มีความหมาย ถ้าเขารู้ว่าโบรกฯหากินกับลูกค้าในเรื่อง Rate เงินแลกเปลี่ยน เขาจะไม่ใช้เลย เขาจะเลือกโบรกที่ให้ Service ที่ดีกับเข้ามากกว่าโบรกที่ไปหากินกับเขา ซึ่งตรงนี้ทำให้เราถึงมีการกำหนดมาตรฐานของโบรกต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่เรากำหนด การให้ข้อมูล การดูแลลูกค้าจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่เรากำหนด ซึ่งโบรกเราก็ถือว่าสอบผ่านหมด"นายรพี กล่าว

ในแผนงานของ ก.ล.ต.ยังมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยการเพิ่มช่องทางให้SMEs ขนาดเล็กมีทางเลือกในการระดมทุนในรูปแบบ Crownd Funding ซึ่งเหมาะกับธุกิจ SMEs ประเภทต้น-กลางน้ำ ซึ่งแตกต่างจากนโยบาย 1 จังหวัด 1 ความภูมิใจ ที่ผลักดันให้ธุรกิจในต่างจังหวัดสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ได้ (mai) โดยบริษัทที่จะเข้าตลาดหลัทรัพย์ได้นั้นเป็นบริษัทที่มีความพร้อมมากแล้ว

นายรพี กล่าวว่า รูปแบบดังกล่าวแตกต่างจากการที่ ก.ล.ต.หันมาช่วยเหลือ SMEs ให้มีเครื่องมือ Crownd Funding เข้ามาช่วยธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือธุรกิจประเภท Start up โดยจะเริ่มจากการใช้ Equity Crownd Funding ในระยะแรก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการแสดงความสนใจการเป็น Portal แล้วกว่า 10 ราย

"จริงๆนโยบาย 1 จังหวัด 1 ความภูมิใจเราไม่ได้ทิ้ง แต่ให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้โปรโมทแทน เพราะกลุ่มนั้นเขาเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมแล้ว เป็นแบบธุรกิจปลายน้ำ ให้ตลาดหลักทรัพย์ดำเนินงานจะตรงเป้าหมายมากกว่าเราทำ แต่เราหันมาดูแลการเพิ่มช่องทางให้ธุรกิจ SMEs ที่มีขนาดเล็กมากๆสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ตรงนี้เราจะหาเครื่องมืออะไรมาทำ

Crownd Funding ที่เหมาะกับธุรกิจStart up ทุนน้อยกว่า 50 ล้านบาท เพราะธุรกิจเล็กๆพวกนี้ไม่รู้จะไปพึงใคร ไม่มีใครรู้อนาคตเขา แบงก์ก็ปล่อยสินเชื่อแบบเป็นเงินหมุนในบัตรเครดิต ตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีกับเขา เราอยากให้ธุรกิจเล็กๆแต่มี Potential ในการเติบโตมีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นได้ โดยเราจะเริ่มจากการทำ Equity Crownd Funding ก่อน ก็รอการตั้ง Portal มารองรับ ตอนนี้ทีคนแสดงความสนใจเข้ามาประมาณ 10 ราย ก็รอดู Feed Back ว่าศึกษาทำแล้วคุ้มหริอไม่คุ้ม"นายรพี กล่าว

สำหรับบทบาทของ ก.ล.ต.ต่อการสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยเป็นหลักช่วยเหลือการพัฒนาตลาดทุนในกลุ่มประเทศ CLMV นั้น ก.ล.ต.พยายามเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยสามารถไปลงทุนในประเทศกลุ่ม CLMV ได้ ซึ่งปัจจุบันการที่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านยังมีอุปสรรคที่ทำให้ตลาดทุนยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ อาจจะเป็นเรื่องขนาดเล็กและปริมาณสภาพคล่องในตลาดที่ยังมีน้อย ทำให้ความสนใจไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญที่สุดก็คือการขับเคลื่อนของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ว่าจะมีทิศทางการพัฒนาตลาดทุนของเขาอย่างไร แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการไทยหลายรายเริ่มเข้าไปทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินและตลาดทุนในกลุ่มประเทศ CLMV แล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด และเป็นเรื่องที่ทุกคนยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าหากอนาคตตลาดเงินและตลาดทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เติบโตอย่างก้าวกระโดด ก็จะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์อย่างมากในอนาคต

"ทุกคนมองว่าตลาดหลักทรัพย์จะเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ประเทศ เหมือนกับสายการบินประจำชาติ แต่หลักๆแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น อย่างเช่น แอร์เอเชีย ไม่ได้เป็นสายการบินแห่งชาติ แต่เป็น International Airline ส่วน Korean Air ก็ไม่ได้เป็นสายการบินของรัฐ เอกชนเป็นคนลงทุน สำหรับเราในการช่วยพัฒนาตลาดทุนในประเทศเพื่อนบ้านเราก็ช่วย Support เขาเรื่อง Knowhow การ Training และ Issue ต่างๆจะทำอย่างไร ต้องแก้ปัญหาอย่างไร ต้องยอมรับว่าตลาดในประเทศเพื่อนบ้านเรายังมีปัญหา Scale กับ Liquidity ทำให้โตช้า

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนแล้วก็เป็นโอกาสที่ดี เพราะช่วงแรกเงินลงทุนไม่สูง และหากเศรษฐกิจ ความเจริญต่างๆของเขาจุดติดขึ้นมาก็จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์อย่างมาก ถือว่าไม่ตกขบวน เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นย่างไร โดยเฉพาะในธุรกิจ Financial Sector ที่ยังต้องใช้เวลา แต่ในอนาคตก็ไม่แน่นะอาจจะเร็วว่าที่คิด ส่วนธุรกิจที่ลงไปแล้วเห็นการเติบโตแล้ว คือ พวกรับเหมาก่อสร้าง ความงาม เพราะว่าธุรกิจพวกนี้มี depend upon demand อยู่แล้ว ไปแล้วก็มีลูกค้าเข้ามาทันที"นายรพี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ