(เพิ่มเติม) ศึกชิงคลื่น 900 MHz เที่ยงวันที่ 3 ราคาทะลุใบละ 5 หมื่นลบ.ยังลุยต่อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 17, 2015 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในวันที่ 3 จนถึงช่วงเที่ยงวันนี้เคาะราคาใบอนุญาตทั้ง 2 ใบทะลุใบละ 5 หมื่นล้านบาทไปแล้ว ทำให้ราคารวมสูงเกิน 1 แสนล้านบาทไปด้วย หลังจากเมื่อเวลา 9.00 น.กลับเข้าสู่การประมูลรอบที่ 109 จากที่หยุดพักเป็นเวลา 3 ชั่วโมง โดยเอกชนทุกรายยังเคาะสู้ราคากันทั้ง 2 ใบอนุญาต

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า เนื่องจากราคาประมูลยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า กสทช.จะมีการกำกับดูแลในเรื่องของค่าบริการอย่างเข้มข้น โดยค่าบริการ 4G จะต้องถูกกว่าค่าบริการ 3G อย่างแน่นอน

อีกทั้งไม่ต้องกังวลว่าผู้ประกอบการค่ายมือถือจะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการประมูลที่มีมูลค่าสูง เพราะการลงทุนในครั้งจะต้องมีการคำนวนต้นทุนต่างๆไว้แล้ว อีกทั้งเชื่อว่าการให้บริการยังสามารถต่อยอดไปได้อีกหลายช่องทางที่จะทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจ Mobile payment หรือ การชำระเงินผ่านทางมือถือ เป็นต้น

"ผลการประมูลขณะนี้ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะเชื่อว่าผู้ประกอบการยังมีธุรกิจใหม่ๆ ที่จะออกมาอีกเยอะ เช่น Mobile-payment ที่จะเกิดขึ้น ฉะนั้นขอให้จับตาในประเด็นเหล่านี้ไว้ ซึ่งถือว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่ที่จะเกิดขึ้น" เลขาธิการ กสทช. กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติได้ โดยประเทศไทยยังถือว่ามีความสดใสและน่าลงทุนอยู่ เห็นได้จากการลงทุนของต่างชาติในหุ้นกลุ่มสื่อสาร ที่ยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ในบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ที่มีกลุ่มทุนเป็นบริษัทจากประเทศสิงค์โปร ,บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด มีกลุ่มทุนมาจากประเทศนอร์เวย์ ,บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์เซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีกลุ่มทุนจากไชน่า โมบาย และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ที่มีกลุ่มทุนมาจากประเทศเกาหลี

"ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่ง และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ว่าประเทศไทยยังสดใสอยู่ นแม้ภาพของรัฐบาลที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้ต่างประเทศกังวล แต่อย่างไรก็ตามเครื่องยนต์ 4 เครื่องไม่ได้ดับ ยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งราคาอาจจะสูงขึ้น แต่ไม่อยากให้ไปวิตกว่าราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารจะตก เนื่องจากรานได้ที่เกิดขึ้น จะเกิดจากผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งแตกต่างจากทีวีดิจิตอล ที่เกิดขึ้นจากค่าโฆษณาเป็นหลัก ต้นทุนจึงต่างกัน"

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า การประมูลได้ดำเนินมาเป็นชั่วโมงที่ 38 แล้ว โดยมีราคาในใบที่ 1 เพิ่มขึ้นประมาณ 306% ของราคาประมูลตั้งต้น และใบที่ 2 เพิ่มขึ้นประมาณ 316% ของราคาประมูลตั้งต้น รวมราคากว่า 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ยังต้องติดตามการประมูลต่อจากนี้ว่าจะไปอยู่ในระดับไหนต่อไป โดยผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตดังกล่าว จะมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคตอย่างมาก ซึ่งมองว่าในอนาคต ผู้ประกอบการจะต้องมีอย่างน้อย 50 MHz ถึงจะสามารถแข่งขันได้

"คลื่นถ้ามีมากก็จะได้เปรียบ โดยหากมีอย่างน้อย 50 MHz ไว้ในมือ จะสามารถแข่งขันในอนาคตได้ จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการแต่ละราย ที่จะต้องมี และหากมีใบอนุญาตในคลื่น 900 MHz ,2100 MHz และ 1800 MHz จะทำให้ปลอดภัย และยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้"

อย่างไรก็ทาง กสทช. ยังคงมีแผนที่จะจัดสรรคลื่นที่มีของโทรคมนาคม มาใช้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และเพื่อให้การจัดอันดับของประเทศ ของ ICT ขยับขึ้น โดยตั้งเป้าขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ในปี 2563 จากปัจจุบันติดอันดับที่ 20 ของคลื่น 3G


แท็ก ลุย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ