กสทช.วิเคราะห์ชิงเดือด 1800 MHz-900 MHz เอกชนหวั่นอนาคตขาดแคลนคลื่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 18, 2015 20:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) และรองประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เหตุผลที่ผู้ประกอบการทั้ง 4 รายแย่งชิงคลื่น 4G ย่านความถี่ 1800 และ 900 MHz กันอย่างดุเดือดนั้น จากการวิเคราะห์ของสมาคมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นานาชาติ(GSMA)ระบุว่าประเทศไทยมีการใช้งาน Mobile Broadband (3G/4G) เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ และปัจจุบันนี้ ผู้ให้บริการ (Operator) แต่ละรายขาดแคลนคลื่นความถี่อย่างหนักจึงต้องการคลื่นความถี่เพิ่ม

ทั้งนี้ กสทช.วิเคราะห์ว่าในปัจจุบันผู้ให้บริการแต่ละค่ายต้องการคลื่นความถี่อย่างน้อย 60 MHz เพื่อเผชิญกับการแข่งขันการให้บริการใช้งาน DATA ของผู้บริโภคในประเทศ โดยวงการโทรคมนาคมไทยมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี 4G LTE ไปเป็น LTE Advanced ภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับการใช้งาน DATA ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และหาภายใน 5 ปีข้างหน้า กสทช.ไม่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ออกมาประมูลเพิ่มเติม ก็จะเกิดวิกฤตในด้านคุณภาพให้บริการอย่างหนัก จึงทำให้ผู้ให้บริการต้องการมีคลื่นความถี่ไว้ในมือให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ตาม Roadmap ของการเข้าสู่ยุค 5G มีแผนในการเปลี่ยนผ่านในการให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2020 และจะทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีความต้องการคลื่นความถี่ในการให้บริการข้อมูลในระดับความเร็วสูงกว่า 1 กิกะบิทต่อวินาที (Gbps) จึงต้องการความถี่ต่อ 1 ผู้ให้บริการ สูงกว่า 70 MHz จึงต้องช่วงชิงคลื่นความถี่ให้ได้ในครั้งนี้

พร้อมทั้งผู้ให้บริการบางรายจะหมดสัญญาสัมปทานในคลื่นความถี่ที่สำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงทำให้หากพลาดโอกาสครั้งนี้ อาจจะทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เพราะภายใน 3-4 ปีนี้ กสทช.ยังไม่มีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ Mobile Broadband เนื่องจากคลื่นความถี่ส่วนใหญ่ ยังติดอยู่ในสัญญาสัมปทาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ