(เพิ่มเติม) TRUE ทุ่มอีก 5.5 หมื่นลบ.เน้นพัฒนา 4G,เป้าชิงส่วนแบ่งฯเป็น 35%ใน 5 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 21, 2015 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ประกาศนำคลื่นความถี่ 900 MHz ต่อยอดความเป็นผู้นำอินเตอรืเน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย ชูจุดแข็งผู้ให้บริการที่มีเครือข่ายที่ดีที่สุดและมีแบนด์วิธมากที่สุดถึง 55 MHz พร้อมนำคลื่น 900 MHz ผสานการให้บริการบนคลื่นความถี่ 850MHz, 1800 และ 2100 MHz เพิ่มศักยภาพการให้บริการ

สำหรับแหล่งเงินทุนของบริษัทฯคาดใช้เงินสด-เงินกู้-ขายสินทรัพย์เข้ากองทุนหรือขายหน่วยฯ เพื่อพัฒนา 4G พร้อมมองชนะประมูล 900 MHz ช่วยลดต้นทุนการขยายโครงข่ายกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

"มั่นใจการประมูลครั้งนี้เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ลดความเสี่ยงในการประกอบการในระยะยาว" นายศุภชัย ระบุ

นายศุภชัย กล่าวว่า บริษัทฯตั้งเป้ามีส่วนแบ่งการตลาดภายในปี 5 จากนี้ ที่ 34% จากปัจจุบัน 20% ของมูลค่าตลาดรวมที่ 240,000 ล้านบาท โดยจะเป็นไปตามการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯถือว่ามีจำนวนคลื่นรวมทั้งสิ้นอยู่ 55MHz แบ่งเป็น คลื่นความถี่ 850MHz (ภายใต้กสท.) ,900MHz,1800MHz และ 2100MHz

ทั้งนี้ บริษัทตั้งลงทุนจะใช้เงินลงทุน 5.5 หมื่นล้านบาทภายในช่วง 3 ปี เพื่อนำไปพัฒนาโครงข่าย โดยจะเน้นการลงทุนในโครงข่าย 4G เป็นหลัก และในเรื่องของ 2G อีกบางส่วน จากที่บริษัทฯมีส่วนแบ่งการตลาดในตลาดเติมเงิน และตลาด 2G ค่อนข้างน้อย ซึ่งถือว่ายังเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ดังนั้นการที่มีศักยภาพในคลื่น 900MHz ก็จะทำให้มีศักยภาพครบสมบูรณ์ และไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มทรูมูฟ เอช มีส่วนแบ่งตลาดเติมเงินและ 2G ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ถ้าเรามีศักยภาพคลื่น 900 MHz ก็จะทำให้กลุ่มทรุมูฟเอชมีศักยภาพครบสมบูรณ์จากเดิมที่มีแต่คลืน 1800 MHz ทำให้มีข้อจำกัด

การตั้งเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องไปกับประเทศ คือจะมีโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่เป็นระดับโลก และมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน 4G ในระดับที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนให้ได้ จากการลงทุนต่อเนื่อง

"เรามีศักยภาพพร้อมที่จะให้บริการ 4G ดีที่สุดเทียบกับผู้ประกอบการ เบอร์หนึ่งที่มีคลื่นที่บริหาร 30 MHz แต่เขามีลูกค้ามากกว่าเรา 2 เท่ากว่า ปริมาณความจุ 4G ต่อผู้ใช้เมื่อเทียบกับ 30 MHz ที่ต้องหาอีก 2.5 เท่า เทียบกับเรามี 55 MHz ... เราจะเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ขอให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสามารถที่จะสร้างบริการที่ดี สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุน ส่วนผู้เล่นรายใหญ่ เราก็เคารพการตัดสินใจของทุกกลุ่มที่เข้ามา และเราก็คงต้องยืนอยู่บนความไม่ประมาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญของตลาด แต่แน่นอนว่าจะเป็นตัวแปรที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์"นายศุภชัย กล่าว

ทั้งนี้บริษัทฯยังไม่มีความกังวลจากการที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา คือบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งมีคลื่นในมือเพียง 10MHz โดยเฉพาะในเรื่องของธุริกจมือถือ แต่มีความกังวลในส่วนของเบอร์ 1 และเบอร์ 2 มากกว่า เนื่องด้วยเชื่อว่าเบอร์ 1 คงพยามยามที่จะมีคลื่นในมือมากกว่านี้ จากปัจจุบันมีเพียง 30MHz ถือว่าไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ส่วนเงื่อนไขในการชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900MHz ในครั้งนี้ ถือว่ามีความยืดหยุ่นมากและเอื้อต่อการจัดการกระแสเงินสดของบริษัท โดยกลุ่มทรูมีช่องทางในการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการชำระค่าใบอนุญาตและเพื่อพัฒนาโครงข่าย 4G โดยจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ ,เงินกู้หรือสินเชื่อจากสถาบันทางการเงิน ปัจจุบันมีหนี้สินต่อทุน D/E อยู่ที่ 2.5 เท่า ,การจำหน่ายสินทรัพย์เพิ่มเติมเข้ากองทุนและหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิทัล (DIF) อีกทั้งยังได้รับเครดิตจากกลุ่มผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ (Vendor Financing) จึงมั่นใจว่าบริษัทมีความแข็งแก่รงและพร้อมเดิมหน้าพัฒนาเครือข่ายและคุณภาพให้บริการต่อเนื่องอย่างอน่นอน ขณะที่แผนการเพิ่มทุนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

"Cash Flow หรือกระแสเงินสดที่เรามีก็เป็นส่วนสำคัญ และก่อนการประมูลเราได้ Commitment จากผู้ขายอุปกรณ์หลัก ในเรื่องของ Financing ในมูลค่าที่สามารถที่จะลงทุนในงบประมาณดังกล่าว หรือเกินกว่านั้น อีกทั้งตัวของกองทุน DIF ซึ่งก็จะเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่เราสามารถที่จะนำเอาอุปกรณ์ เครือข่าย เข้ากองทุนได้อีก นอกจากนั้นเราก็ยังมีการกู้เงินทั้งระยะสั้น ระยะยาว ในการที่จะตอบสนองในช่วงที่ต้องการทุน หรือกระแสเงินสด เมื่อเทียบกับการเติบโตของรายได้ และตลาดที่เราจะเข้าไปสร้างการเติบโต เราก็มีความเชื่อมั่นว่ากระแสเงินสดของเรามีศักยภาพเพียงพอ"นายศุภชัยกล่าว

ทั้งนี้ TRUE จะเพิ่มทุนหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นที่มองแหล่งเงินจากการเพิ่มทุนเป็นต้นทุนที่ถูกกว่าวิธีการอื่น อย่างไรก็ตี ฝ่ายบริหารยังไม่มีแผนเพิ่มทุน

นายศุภชัย กล่าวว่า การชนะประมูลคลื่น 900MHz ในครั้งนี้และชนะประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อพ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรักษาการเติบโต และจะทำให้การเติบโตมากขึ้นไปอีก ซึ่งต่างจากรายอื่นทั้งเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ที่มีไว้เพื่อรักษาฐานลูกค้า จะเห็นว่ามุมมองของผู้ประกอบการรายอื่น วัตถุประสงค์ไม่เหมือนกัน สำหรับบริษัทฯแล้วเป็นการสร้างฐานลูกค้าใหม่และเพื่อการเติบโตซึ่งจะสร้างกระแสเงินสดมากขึ้น ให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับกับเงื่อนไขการชำระค่าใบอนุญาต โดยเฉพาะค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900MHz ที่มีเงื่อนไขการจ่ายค่าใบอนุญาตดีมาก โดย 3 ปีแรกจ่าย 1.6 หมื่นล้านบาท ที่เหลือไปจ่ายในปีที่ 4

ทั้งนี้ บริษัทฯมีแผนจะนำไปให้บริการในส่วนของ 2G ที่เชื่อว่ายังมีลุกค้าอยู่มากกว่า 15 ล้านราย และในคลื่น 1800 MHz จะให้บริการ 4G ทั้งนี้ TRUE เห็นโอกาสทางตลาด 2G ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่คลื่น 900MHz ทำให้บริษัทมีโอกาสก้าวกระโดดจากจุดนี้ แต่คู่แข่งก็พยายามปรับตัวเช่นกัน

"ผมคิดว่าคลื่น(900 MHz ที่ประมูลได้) ไม่แพง เพราะเป็นคลื่นที่มีการใช้งานอยู่แล้วและยังมีลูกค้าอยู่ด้วย เท่ากับ เป็น Spring board ก้าวไปอีก ดังนั้น 4G Advanced ต้องมีคลื่นจำนวนมากทีเกิน 40MHz เราเป็นรายเดียวที่ทำได้ การที่เราประมูลคลื่นทั้ง 1800 MHz และ 900MHz เพื่อรักษาโมเมมตัมการเติบโตและให้มากขึ้นไปอีก"

"มองว่าการลงทุน(คลื่น 900 MHz) มีความเสี่ยง แต่เป็นความเสี่ยงที่เราพิจารณาแล้วว่าบริหารจัดการได้ และที่สำคัญเป็นความเสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก โดยโอกาสที่จะมีโอกาสได้คลื่นที่เป็นคลื่นที่มีการใช้งานอยู่แล้วจริงคือคลื่น 900MHz และมีคุณภาพสูง และยังสามารถประหยัดการลงทุนได้ถึง 45,000 ล้านบาท ในการขยายโครงข่ายเพื่อให้บริการ 4G โอกาสอย่างนี้ใน 20 ปี เราจะไม่เห็นอีกแล้ว ครึ่งชีวิตที่ผมทำงาน ผมเห็นว่าโอกาสนี้จะไม่กลับมาอีกแล้ว เราได้คลื่นออกมาจากผู้ใช้งานอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ที่ต้องการคลื่นนั้นก็ไม่ได้คลื่นดังกล่าวไปด้วย มันคือ 2 เด้ง ถ้าเราคิดว่าเราสามารถที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องมีการลงทุน"นายศุภชัย กล่าว

กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานคณะผู้บริหาร TRUE กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯมั่นใจยังมีกำไรสุทธิ จากงวด 9 เดือนที่ผ่านมามีกำไรสุทธิราว 4,076 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนการชำระใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz จะบันทึกในปีหน้า ขณะที่ปี 59 บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาทำแผนการลดต้นทุน และยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีกำไรสุทธิหรือพลิกขาดทุนหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ