(เพิ่มเติม) กกพ.มีมติลดค่า Ft งวดม.ค.-เม.ย. 59 ลง 1.57 สต./หน่วย,คาดงวดถัดไปไม่ลด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 23, 2015 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(Ft) งวดใหม่สำหรับเดือนม.ค.-เม.ย.59 ลง 1.57 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าเอฟทีในงวดดังกล่าวอยู่ที่ -4.80 สตางค์/หน่วย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นของขวัญปีใหม่ โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปรับลดค่าเอฟทีในงวดนี้ คือ แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า การประชุมพิจารณาค่าเอฟทีในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.59 นั้น จะอยู่ที่ -4.80 สตางค์/หน่วย ลดลง 1.57 สตางค์/หน่วย จากค่าเอฟทีที่ปรับตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ปี 58 และผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพ.ย.-ธ.ค.58 โดยมีอัตราอยู่ที่ -3.23 สตางค์/หน่วย โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปรับลดค่าเอฟทีในงวดใหม่นี้มาจากแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง โดยคาดว่าราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติ จะอยู่ที่ 261.19 บาท/ล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 15.53 บาท/ล้านบีทียู ขณะที่สัดส่วนการใช้ก๊าซฯยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลัก รองลงมาเป็นการซื้อไฟฟ้าจากลาวและมาเลเซีย ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีแนวโน้มลดลง จากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น

นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อยด้วย รวมถึงมีการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของรัฐ ทั้งในรูปแบบของ adder และ FiT ในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.59 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาประมาณ 4.07 สตางค์/หน่วย แต่จากการปรับการคำนวณค่าเอฟที่เดือนก.ย.-ธ.ค.58 ทำให้มีส่วนต่างของเงินค่าเอฟทีที่คำนวณได้และค่าเอฟทีที่คาดว่าจะเรียกเก็บสะสม นำมาปรับลดค่าเอฟทีในเดือนม.ค.-เม.ย.59 จำนวน -3.61 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าเอฟทีงวดเดือนม.ค.-เม.ย.59 โดยรวมจะลดลงได้เพียง 0.84 สตางค์/หน่วยเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตามกกพ.ได้พิจารณานำเงินชดเชยส่วนลดค่าก๊าซฯ ของโรงไฟฟ้าขนอมเดือนก.ค.57-ส.ค.58 จำนวน 269.02 ล้านบาท และเงินปรับลดแผนการลงทุนปี 51-53 ส่วนที่เหลือของทั้ง 3 การไฟฟ้า จำนวน 137.16 ล้านบาท รวมเป็น 406.18 ล้านบาท มาปรับลดค่าเอฟทีในงวดนี้ อีก 0.73 สตางค์/หน่วย

กรณีดังกล่าวทำให้ค่าเอฟทีงวดเดือนม.ค.-เม.ย.59 ลดลงได้ 1.57 สตางค์/หน่วย มาอยู่ที่ระดับ -4.80 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 3.7556 บาท/ลิตร จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าทุกประเภทในงวดเดือนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 3.7076 บาท/หน่วย ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือลดลง 0.42%

นายวีระพล คาดว่า ค่าเอฟทีในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.59 อาจจะไม่ลดลงแม้ว่าแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าจะลดลง แต่การที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่จากพลังงานทดแทนเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีราคาสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักก็จะกระทบต่อค่าเอฟทีได้ รวมถึงยังต้องจับตาทิศทางค่าเงินบาท/ดอลลาร์ด้วยว่าจะอ่อนตัวลงไปอีกหรือไม่

"คณะกรรมการฯกังวลว่า งวดหน้า(พ.ค.-ส.ค.59) ค่าเอฟทีจะไม่ลด ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของนโยบายที่จะมีการผลิตของกลุ่มโซลาร์ฟาร์มค้างท่อเข้ามากว่า 900 เมกะวัตต์ พวกนี้มีต้นทุนที่แพง งวดหน้าถ้าราคาน้ำมันเป็นแบบนี้เดือนมกราคม ยังอยู่เหลือ 30 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาก๊าซฯเป็นขาลง แต่อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เกิน 36 บาท/ดอลลาร์ ค่าเอฟทีงวดหน้าดูตามต้นทุนก็อาจจะไม่ลดลง"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทโซลาร์ฟาร์ม กลุ่มค้างท่อที่มีกว่า 900 เมกะวัตต์นั้นจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่บางส่วนที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่อาจจะจ่ายไฟฟ้าไม่ทันก็จะถูกตัดสิทธิไป แต่ผู้ประกอบการสามารถยื่นอุทธรณ์เพื่อขอให้พิจารณาเป็นรายๆไปได้ ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะเผยแพร่รายละเอียดทั้งหมดผ่านทาง www.erc.or.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.58-7 ม.ค.59 ก่อนที่จะนำผลการรับฟังความคิดเห็น มาพิจารณาและให้การไฟฟ้าประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ