(เพิ่มเติม) KKP ปรับเป้าสินเชื่อปีนี้โตกระโดดเป็น 15%จาก 5-7%,กำไรสุทธิปีนี้สูงขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 26, 2016 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ระบุว่า ธนาคารปรับเป้าหมายสินเชื่อรวมปีนี้จะขยายตัวก้าวกระโดดราว 15% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 5-7% เนื่องจากธนาคารจะหันมาเน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และกลุ่ม Wealth Management มากขึ้น ขณะที่คาดว่าลูกค้ากลุ่มเดิมจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการจัดตั้งสายงานช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้าจะช่วยให้การขยายฐานลูกค้าในมิติต่างๆ ให้เห็นผลได้อย่างชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปีนี้ยังมีความเสี่ยงเรื่องภาวะภัยแล้ง ภาวะเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่และของเศรษฐกิจโลกที่ยังต้องระมัดระวัง เพราะอาจทำให้การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ เบื้องต้นจากการประเมินของ บล.ภัทร คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ระดับ 3.2% ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากปี 58

"ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อรวมเติบโตอยู่ที่ 15% สูงกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะเติบโต 5-6% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่หากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดการณ์ไว้ ธนาคารพร้อมที่จะหั่นเป้าลงในช่วงกลางปีนี้ได้เช่นกัน เราตั้งสูงไว้ก่อน เพราะเราต้องกำหนดเป้าหมายให้พนักงานทำงาน แต่หากทำไม่ได้จริงๆ กลางปีก็หั่นเป้าลง โดยสินเชื่อปี 58 ติดลบ 3.6% ซึ่งเมื่อเทียบไปกลับและถือเป็นการเติบโตที่สูง"นายอภินันท์ กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้าสินเชื้อเช่าซื้อรถยนต์เติบโต 5% ในปีนี้จากปีก่อนที่หดตัวลง 11.9% โดยพอร์ตสินเชื้อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็น 65% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ปีนี้ตั้งเป้าเติบโตไม่เกิน 10% และสินเชื่อที่จะมีการเติบโตมากที่สุดรวมกันถึง 100% ประกอบด้วย สินเชื่อหมุนเวียนเอนกประสงค์ สำหรับลูกค้า Wealth Management, สินเชื่อบรรษัท และสินเชื่อเอสเอ็มอี

นายอภินันท์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่ดีของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สะท้อนจากผลประกอบการที่เติบโตขึ้น คุณภาพของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ตลอดจนความคืบหน้าในกลุ่มธุรกิจที่ร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ

ขณะที่ปี 59 เข้าสู่ระยะที่ 2 คือ การขยายธุรกิจตามยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ การเป็น Credit House ที่มีประสิทธิภาพ ถัดมาคือการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ Private Banking ที่ภัทรมีประสบการณ์ทางธุรกิจนี้มากว่า 15 ปีและสุดท้ายคือรักษาความเป็นผู้นำในด้าน Investment Banking ที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมของภัทรและเป็นผู้นำในธุรกิจนี้อยู่แล้ว

สำหรับกำไรสุทธิในปี 59 คาดว่าจะสูงกว่าปี 58 ที่มีกำไรอยู่ที่ 3.31 พันล้านบาท จากการตั้งสำรองที่ลดลงในปีนี้ หลังจากปีก่อนธนาคารตั้งสำรองไว้ในระดับสูง นอกจากนี้แนวโน้มของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มลดลงในปีนี้ โดยธนาคาตั้งเป้าหมายสิ้นปีนี้ลดลงเหลือ 4.5% จากสิ้นปี 58 อยู่ที่ 5.8% เนื่องจากธนาคารมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีและลูกค้ามีความสามารถในการชำระที่ดีขึ้น ประกอบกับ NPL ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

ในปีนี้ธนาคารยังเตรียมแผนออกหุ้นกู้ 2-3 พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 1/59 หรือไตรมาส 2/59 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามมาตรฐาน BIS สิ้นปี 59 เพิ่มเป็น 17-18% จากปัจจุบันอยู่ที่ 16.5% เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับการปล่อยสินเชื่อและป้องกันความเสี่ยงในยามที่เศรษฐกิจผันผวน

ด้านนายกฤติยา วีรบุรุษ ประธานธุรกิจตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน บล.ภัทร ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) สิ้นปี 59 ที่ 1,350 จุด อิง P/E 13 เท่า โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยปีนี้จะมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังดัชนีมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มราคาน้ำมันช่วงปลายปีมีโอกาสรีบาวด์ขึ้นไปแตะ 50 เหรียญต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่ 25 เหรียญต่อบาร์เรล โดยการปรับขึ้นของราคาน้ำมันช่วงปลายปีจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการปรับขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทย จากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงานที่ลดลงมากตั้งแต่ปีที่แล้วมาถึงต้นปีนี้

ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 4 - 4.5 หมื่นล้านบาท/วัน ใกล้เคียงกับปีก่อน ทั้งนี้แนะนำนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน สื่อสาร ธนาคาร และอุตสาหกรรมการผลิต ที่ยังมีความเสี่ยงอยู่จากปัจจัยภายในและภายนอกสูง

ขณะที่งานด้านวานิชธนกิจ บล.ภัทร มีดีลที่ปรึกษาทางการเงินในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียน (IPO) และการออกหุ้นเพิ่มทุน (PO) ราว 4-5 ดีล มูลค่าระดมทุนดีลละ 5,000-30,000 ล้านบาท โดยยังเน้นทำดีลขนาดใหญ่ จากปี 58 ทีมีดีล IPO ออกมา 2-3 ดีล นอกจากนี้ ยังมีดีลที่เกี่ยวข้องกับการควบรวบกิจการ (M&A) ในมือจำนวนมาก จากปีก่อนมีดีล M&A 5 ดีล โดยดีลส่วนใหญ่ในปีนี้เป็นดีลที่เลื่อนมาจากปี 58 เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย

อีกทั้งยังมีดีลที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกหุ้นกู้รวมราว 2-3 หมื่นล้านบาทให้กับลูกค้ากลุ่มสื่อสาร และกลุ่มธุรกิตจที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนภาครัฐ โดยมูลค่าหุ้นกู้ที่จะออกแต่ละบริษัทจะมีมูลค่าไม่สูง แต่จะมีบริษัทที่จะออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ออกหุ้นกู้ คือ กลุ่มซีพีที่ออกหุ้นกู้รวมกัน 2.5 หมื่นล้านบาท

นายกฤติยา ยังเปิดเผยอีกว่า พอร์ตลงทุนของบล.ภัทร ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนอยู่ที่ 8 พันล้านบาท/วัน โดยตั้งเป้า 3 ปีข้างหน้า (ปี 59-61) จะเพิ่มมาอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท/วัน โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในประเทศ 80-90% อีก 10% เป็นการลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเตรียมออกกองเฮจด์ฟันด์กองที่ 2 มูลค่ามากกว่า 7 พันล้านบาท หลังจากตั้งกองแรกไปแล้วเมื่อปีก่อนมูลค่า 7 พันล้านบาท โดยกองล่าสุดเน้นลงทุนหุ้นในประเทศและภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่อยู่ที่ 6-7% ต่อปี

"มองว่าการที่ออกเฮจด์ฟันด์ในช่วงที่ตลาดผันผวนคาดว่านักลงทุนจะให้ความสนใจ เนื่องจากในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน ซึ่งกองเฮจด์ฟันด์จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้"นายกฤติยา กล่าว

ส่วนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ มีแผนปฏิรูปการทำงานอย่างบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสาขา (เปิด ปิด ย้ายเข้าห้างสรรพสินค้า) ปรับภาพลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันมี 65 สาขา เพียงพอต่อการขยายธุรกิจไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้หลากหลาย อาทิ เงินฝากและการลงทุน (KK Smart Invest, KK Smart Bonus, KK Smart Gain) สินเชื่อรายย่อย (Captive Finance กับซูซูกิ) นอกจากนี้ยังได้นำ Alternative Channel มาเป็นตัวเสริมเพื่อช่วยในการขยายตลาดและเข้าถึงลูกค้า (Mobile Booth, Telesales, Direct Sale Agent) เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์บางรายการ ที่อาจไม่เหมาะกับการใช้เครือข่ายสาขาที่มีอยู่ในการขาย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน โปรแกรม SME ซึ่งธนาคารมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ