(เพิ่มเติม1) เลขาฯ กสทช.เผย JAS ยังไม่แจ้งมาว่าจะชำระเงินค่าไลเซ่นส์ 900 MHz ทันวันนี้หรือไม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 21, 2016 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ยังไม่ได้รับการติดต่อจาก บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ว่าจะเข้ามาชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz งวดแรก 8,040 ล้านบาท และแบงก์การันตีอีก 6.76 หมื่นล้านบาท ทันเส้นตายภายในเวลา 16.30 น.วันนี้หรือไม่ ซึ่งทางแจสฯ คงต้องแจ้งเข้ามาล่วงหน้าให้ กสทช.ทราบก่อนจะเดินทางมา

"ทางแจสฯ ถ้าจะมาจ่ายก็ต้องเป็นคนแถลงเองว่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายค่าไลเซ่นส์ รวมทั้งก็ต้องแจ้งกับ กสทช.ก่อนเดินทางมาจ่ายเงินด้วย แต่อย่างไรแล้ว กสทช.จะรอถึง 16.30 น.ของวันนี้" นายฐากร กล่าว

ทั้งนี้ กสทช.ได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับการเข้ามาชำระเงินของแจสฯ ตั้งแต่เวลาเวลา 8.30 น.วันนี้

นายฐากร กล่าวว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา กสทช.ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง แจสโมบายฯ เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวและขอให้ประสานงานกับทางผู้บริหาร เพราะ กสทช.เห็นว่าหากเป็นไปได้ก็น่าจะมีความชัดเจนก่อนเปิดเวลา 10:00 น.เนื่องจาก บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS) เป็นบริษัทมหาชน ขณะที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท.) ขอให้ กสทช. เป็นตัวกลางในการประสานงานกับ แจส โมบาย เกี่ยวกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม หากแจส โมบาย ไม่มาชำระเงินตามกำหนดในวันนี้ จะรวบรวมปัญหาอุปสรรคเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีรับทราบ พร้อมทั้งเสนอแนวทางการเปิดโอกาสให้สิทธิกับผู้ให้ราคาประมูลเป็นลำดับที่ 2 และ 3 ได้ครอบครองใบอนุญาตในราคาสุดท้ายที่แจส โมบาย ประมูลได้ หรือมีการเจรจากันในราคาที่เหมาะสม หรืออาจเปิดประมูลใหม่ในราคาเริ่มต้นดังกล่าว

รายงานข่าวจาก กสทช.ระบุว่า กรณีที่แจส โมบายฯ ไม่มาชำระเงินตามกำหนด สิ่งที่จะเกิดขึ้นอันดับแรก คือ จะต้องถูกริบเงินประกัน 644 ล้านบาทที่ทางบริษัทได้วางไว้กับ กสทช.ตั้งแต่ก่อนเข้าเข้าประมูลคลื่น 900 MHz จากนั้น จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายที่ กสทช.จัดการประมูลเป็นเงินระมาณ 160 ล้านบาท รวมทั้งจะต้องจ่ายค่าเสียโอกาสที่ประชาชนจะไม่ได้ใช้งานคลื่น 900 MHz ตามแผนงานที่ กสทช.กำหนด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการประเมินมูลค่าไว้

ส่วนการจัดการกับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz นั้น กสทช.ตจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 เพื่อเปิดทางให้สามารถเจรจากับผู้แพ้ประมูลอีก 2 ราย คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หากสนใจเข้ามาใช้ใบอนุญาตในราคาที่เหมาะสม หรืออาจเปิดประมูลใหม่ในราคาเริ่มต้นที่ แจส โมบาย ประมูลได้ แต่หากไม่มีผู้สนใจรายใดเข้าประมูลในช่วง 4 เดือนนี้ก็จะต้องเก็บใบอนุญาตเข้าใช้คลื่นไว้เป็นเวลา 1 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ