(เพิ่มเติม) BTS ลั่นพร้อมลงทุนกว่าแสนลบ.ชิงรถไฟสีเหลือง-ชมพู,ชะลองานตปท.หันเน้นประมูลโครงการรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 31, 2016 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เตรียมเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท เพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ รวมทั้งยังให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลงานโครงการรถไฟและรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในประเทศ ทำให้ต้องชะลอการประมูบงานในต่างประเทศออกไปก่อน

ขณะที่คาดว่าในปี 59/60 (เม.ย.59-มี.ค.60) จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส จะเติบโต 5-6% ตามการขยายตัวของเมือง โดยเตรียมงบลงทุนกว่าหมื่นล้านบาทเพื่อซื้อขบวนรถเพิ่ม 43 ขบวนภายในงวดปี 59/60

นอกจากนี้ยังจะร่วมมือกับบมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (GLAND) ศึกษาการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ หลังร่วมกันซื้อที่ดิน 50 ไร่ย่านพหลโยธิน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร BTS เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมมที่จะเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่ยังต้องรอดูเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อความชัดเจนก่อน โดยคาดว่าน่าจะประกาศในราวเดือน มิ.ย.59 คาดใช้เงินลงทุนเส้นทางละ 5 หมื่นล้านบาท

ส่วนจะต้องมีพันธมิตรเข้าร่วมประมูลหรือไม่ คงต้องรอดู TOR เช่นกัน แต่เบื้องต้นบริษัทเชื่อว่าจะสามารถเข้าประมูลได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพันธมิตร

นอกจากนี้ บริษัทยังยืนยันว่ามีความสนใจและพร้อมเข้าประมูลโครงการรถไฟ และรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ทำให้ในปีนี้บริษัทจะเน้นการเข้าร่วมประมูลงานในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ชะลอการประมูลงานในต่างประเทศไปก่อน

สำหรับความพร้อมของแหล่งเงินทุนนั้น บริษัทมีเงินสดจากการออกกองทุนรวมโครงการพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) ซึ่งสามารถระดมทุนมาได้ 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งบางส่วนนำไปชำระหนี้และซื้อที่ดิน แต่ก็ยังมีเงินสดเหลืออีก 2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีเงินจากการแปลงสภาพ BTS-W3 จำนวน 4.8 หมื่นล้านบาท (ระยะเวลาการใช้สิทธิ 16 ธ.ค.-18 ส.ค. ที่ 12 บาท /หุ้น)

"รอ TOR ยังไม่ออก ขอดู TOR จากรัฐบาลให้แน่ชัดก่อน ซึ่ง BTS ทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว รัฐบาลเอาอะไรออกมาเราก็สนใจเข้าร่วมแน่นอน เงินไม่ใช่ปัญหา เตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนอยู่แล้ว...พร้อมมาก เพราะกองทุนรวมโครงการพื้นฐานฯเราก็ทำแล้ว เงินในบริษัทก็มี เรารอเป็นปีๆ แล้วจะมีอะไรให้ประมูลเราเข้าประมูลทั้งหมด เพราะเป็นเส้นทางที่ต่อเชื่อมกับบีทีเอส แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็น TOR ที่สมบูรณ์จริง ๆ ถ้าเห็น TOR จะตอบได้ 100% แต่รัฐบาลออกอะไรมาเราดูทั้งหมด ความเร็วสูง กทม.-โคราช ถ้าให้เอกชนเข้าร่วม เราเข้าทั้งหมด ส่วนงานต่างประเทศปีนี้ไม่มี เพราะโครงการในไทยเยอะมาก ที่เข้าประมูลในจีนเมื่อ 2 ปีที่แล้วเพราะไทยไม่มีโปรเจกต์"นายคีรี กล่าว

นายคีรี กล่าวว่า การเข้าประมูลโครงการในไทยมี 2 โมเดล หากเป็นโครงการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นการว่าจ้างบริหารการเดินรถ ซึ่งบริษัทเป็นผู้ลงทุนตัวรถ และระบบเดินรถ แต่หากเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู บริษัทคงต้องลงทุนเองทั้งหมด 100% ขณะที่รายได้ทั้งหมดมาจากผู้โดยสาร และบริษัทเป็นผู้รับความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลระบุว่าจะให้การสนับสนุนในส่วนของงานโยธา

"โครงการลงทุนที่จะต้องใช้เยอะสายสีชมพูและเหลือง ซึ่งกำลังศึกษาความคุ้มค่าอยู่สำหรับสีเหลืองเส้นลาดพร้าว ส่วนสีชมพูก็มีศักยภาพเพราะมีที่ให้พัฒนาเยอะ"นายคีรี กล่าว

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้บริษัทร่วมเป็นพันธมิตรกับ บมจ.แกรนด์ คาแนล แลนด์ (GLAND) ด้วยการร่วมกันซื้อที่ดินในย่านพหลโยธินไว้ 50 ไร่ มูลค่าราว 7,300-7,400 ล้านบาท และมีแผนจะพัฒนาโครงการร่วมกัน โดยอยู่ระหว่างศึกษาแผนงาน เพราะที่ดินมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาสักพัก ซึ่งคงไม่ใช่ในปีนี้

"ศึกษาโครงการอยู่ แต่คิดว่าที่ดิน 5 ไร่ ขนาดนั้นทำได้หมด และเชื่อมต่อสถานี BTS ตรงนี้ดีแน่ ซึ่งก็จะเป็นคอนโด โรงแรม ออฟฟิศให้เช่า ทำได้ทั้งหมดพร้อมกัน"นายคีรี กล่าว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร BTS กล่าวว่า ในงวดปี 59/60 (1 เม.ย.59-31 มี.ค.60) บริษัทตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารเติบโต 5-6% จากสิ้นงวกปี 58/59 (31 มี.ค.59) เป็นการเพิ่มขึ้นตามเมืองที่ขยายออกไปมากขึ้น มีจุดเดินทางมากขึ้น อีกทั้งคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าเกิดขึ้นมาก รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน

"ปี 58/59 จำนวนผู้โดยสารเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 9% จากที่คิดว่าเศรษฐกิจซบเซาแต่ไม่ใช่ ปีนี้ตั้งเป้าโต 5-6% ก็ถือว่าสูงกว่าปกติแล้ว"นายสุรพงษ์ กล่าว

ในงวดปีนี้บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนซื้อรถไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติมราว 1 หมื่นล้านบาท สำหรับ 3 ล็อตทั้งเส้นทางเดิม และเส้นทางส่วนต่อขยาย โดยขณะนี้เปิดให้ผูผลิตขบวนรถจากต่างประเทศยื่นประมูลราคาเข้ามาพร้อมกันคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ แบ่งเป็น ล็อตที่ 1 จำนวน 7 ขบวน เพื่อใช้ในระบบเดิมตามสัญญาเดิม ล็อตที่ 2 เพื่อรองรับส่วนต่อขยายในเส้นทางสมุทรปราการ 15 ขบวน และล็อตที่ 3 รองรับส่วนต่อขยายเส้นทางสายเหนือคูคต 21 ขบวน

"ประมูลพร้อมกันทีเดียว มี 6 เจ้าเข้ายื่น ได้แก่ เยอรมัน ฝรั่งเศส จีน แคนาดา เกาหลี สเปน สายที่จะใช้ก่อนเส้นสมุทรปราการเห็นบอกต้องการเปิดเร็ว ขึ้นอยู่กับว่ารถมาเมื่อไรเพราะงาน civil เสร็จก่อนรถจะมา ส่วนระบบเดิม 7 ขบวนตามสัญญา 1 ม.ค.2019 ก็อีก 3 ปี ส่วนสายเหนืออีก 4 ปีข้างหน้า"นายสุรพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ