SUPER เจรจาพันธมิตรญี่ปุ่น 2-3 รายขอซื้อเทคโนโลยีพลังงานจากขยะ รองรับผุดโรงไฟฟ้าขยะในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 7, 2016 08:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) กล่าวว่า บริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในประเทศญี่ปุ่น 2-3 ราย ขอซื้อเทคโนโลยีพลังงานจากขยะ เพื่อนำมาลงทุนในประเทศไทย คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ในเร็วๆนี้ โดยการลงทุนดังกล่าวจะต้องมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 18% ขึ้นไป

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ขนาด 10 เมกะวัตต์ (MW) บนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.สระแก้ว,ปราจีนบุรี เป็นต้น คาดว่าจะสามารถเริ่มลงทุนก่อสร้างได้ในไตรมาส 2/59 ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 12-14 เดือน และน่าจะถึงจุดคุ้มทุนใน 6-8 ปี โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1,300-1,500 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีกด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าและแหล่งที่มาของขยะ ต้องขึ้นอยู่กับใบอนุญาตของภาครัฐ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท สำหรับแหล่งเงินลงทุนเพื่อใช้ดำเนินโครงการนั้นจะมาจากรายได้การขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นรายได้หลักที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และยังสามารถกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้อีกมาก

"แผนการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ หลายๆโรงของเรา เราคิดว่าต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด เนื่องด้วยโรงไฟฟ้าขยะเกี่ยวข้องกับความร้อน ซึ่งมีค่าเสื่อมค่อนข้างเยอะมาก อย่างบริษัท ฮิตาชิ โซเซ่น 1 ใน 2-3 รายที่เรากำลังเจรจาอยู่ในขณะนี้ ก็มีการดำเนินงานใช้เทคโนโลยีมาเป็นระยะเวลา 20 ปี ถือว่าเทคโนโลยีที่เขาใช้มีประสิทธิภาพอย่างมาก และเราเองที่จะลงทุนครั้งแรก ก็อยากได้สิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งเราไม่ได้มองการลงทุนแค่โรงเดียว แต่เป็นการลงทุนทั้ง industry ถ้าหากอุตสาหกรรมมันไปได้ เชื่อว่าระยะยาวเราจะทำได้หมด และน่าจะส่งผลดีกับประเทศ โดยเป้าหมาย SUPER อยากจะมีกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าขยะ 200 เมกะวัตต์ใน 2-3 ปีจากนี้ และน่าจะมีรายได้ประมาณ 55 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์"นายจอมทรัพย์ กล่าว

นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้ และให้ราคารับซื้อไฟฟ้าตามระบบ FiT ที่ 5.66 บาท/หน่วย หลังจากนั้นหากจ่ายไฟฟ้าได้ภายในวันที่ 30 มิ.ย.59 จะให้ราคารับซื้อไฟฟ้าลดลงมาอยู่ที่ 5.377 บาท/หน่วย แต่หากเกินวันที่ 30 มิ.ย.59 จะถูกยกเลิกสัญญาทันที ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนทดสอบขนานระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ครั้งแรก

สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ SUPER ก็ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทุกแห่ง และอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกมา บริษัทฯคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบได้ตามกำหนดในทุกโครงการ ปัจจุบัน บริษัทฯโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว230 เมกะวัตต์ และในเดือนเม.ย.59 ก็จะสามารถ COD ได้เพิ่ม จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของเดิมในปีที่แล้ว ส่งผลให้เดือนเม.ย.นี้จะ COD ครบ 500 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามบริษัทฯยังยืนยันว่าเป้าหมายของการ COD ในปี 59 จะสามารถเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ และเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 60 ได้ตามแผน ซึ่งจากการประเมินรายได้จากโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มพบว่าหากมีการจ่ายไฟฟ้าครบปี บริษัทฯคาดว่าน่าจะมีรายได้ประมาณ 8-9 ล้านบาท/เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ