กสทช.เสนอลดขั้นตอนประมูล 900 MHZ เร็วขึ้นเป็น 22 พ.ค.,สรุปมาตรการเยียวยาซิมดับ 11 เม.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 8, 2016 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในการหารือวันนี้ กสทช.ได้เสนอ 3 แนวทางให้ คสช.พิจารณา ได้แก่ 1.ให้มีการจัดประมูลตามปกติตามแนวทางของกสทช. 2. แนวทางที่เอไอเอส เสนอขอซื้อใบอนุญาตในราคาที่แจสโมบายชนะประมูล โดยมีเงื่อนไขการประกาศขยายมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ 2G และ 3. แนวทางที่ กสทช. เสนอเพิ่มเติมล่าสุด คือ ให้ คสช.ใช้มาตรา 44 ขยายระยะเวลาเยียวยาผู้ใช้บริการ 2G และลดหลักเกณฑ์ขั้นตอนการประมูล โดยไม่ต้องรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อทำให้สามารถกำหนดวันประมูลเร็วขึ้นเป็นวันที่ 22 พ.ค.59 จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 24 มิ.ย.59

เลขาฯ กสทช. ระบุว่า จากการหารือที่ประชุมได้มอบหมายให้ กสทช.สรุปแนวทางที่ดีที่สุดเสนอให้หัวหน้า คสช. พิจารณาตัดสินอีกครั้ง ซึ่งแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และเห็นว่ามีประโยชน์มากที่สุด คือ แนวทางที่ 3 เพราะจะช่วยลดระยะเวลาในการประมูลให้เร็วขึ้น และลดความเสี่ยงที่อาจจะมีผู้ยื่นใฟ้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองซึ่งจะส่งผลให้การเปิดประมูลต้องหยุดชะงัก ขณะที่การเลื่อนประมูลเร็วขึ้น 1 เดือนไม่น่าจะมีผลอย่างมีนัยสำคัญ แต่สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องจากผู้ประกอบการได้

สำหรับการเปิดประมูลใหม่จะเปิดทางให้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) สามารถเข้าร่วมประมูลได้ด้วย โดยทาง กสทช.จะมีหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อป้องกันการเป็นผู้นำตลาดหรือการผูกขาด จึงไม่จำเป็นต้องตัดสิทธิผู้ประกอบการรายใด ยกเว้น แจสโมบายฯ ที่ทำผิดเงื่อนไขประมูล ซึ่งจากการสอบถามอย่างไม่เป็นทางการไปยัง TRUE และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ ทาง กสทช.เชื่อว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน แต่ไม่มั่นใจจะมีมากกว่า 1 รายหรือไม่ และหากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว กสทช.ก็จะยังเดินหน้าการประมูลต่อไป แม้ว่าการเคาะราคาอาจจะเกิดขึ้นเพียงรอบเดียวก็ตาม

"ในความคิดเห็นของผมผมมองว่าแนวทางที่ 3 ใช้มาตรา 44 เหมาะสมที่สุด เพราะช่วยลดขั้นตอนและลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับการประมูลครั้งใหม่ ผมอยากให้การประมูลเกิดขึ้นได้รวดเร็วที่สุด การใช้มาตรา 44 มีข้อเสียเรื่องเดียวก็คือไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ก็ช่วยลดขั้นตอนได้มาก และไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาฟ้องหรือไม่ และทำให้การประมูลเกิดการชะงักขึ้น อีกทั้งยังเปิดกว้างให้กับผู้ชนะการประมูลคราวก่อน คือ ทรู ที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ยกเว้นแจสโมบายฯที่ไม่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล เพราะทำผิดกฏการประมูล นอกจากนี้หลังการประมูลแล้วก็จะมีเงินเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก"นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า กสทช. จะเร่งจัดทำร่างหลักเกณฑ์ทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ เพื่อเสนอ คสช.พิจารณาในทันที โดยคาดว่าภายในวันที่ 11 เม.ย.นี้จะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทั้งหมด และจะต้องรอให้หัวหน้า คสช.ลงนามในประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะทันภายในวันที่ 14 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของคำสั่งศาลปกครองในการขยายเวลาเยียวยา 2G

ส่วนการเยียวยาผู้ใช้บริการคลื่น 2G ของเอไอเอสที่จะมีปัญหาซิมดับหลังจาก 14 เม.ย.นั้น นายฐากร กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายเวลา เพียงแต่ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กสทช. กลับมาทำรายละเอียดเสนอทั้งเรื่องกรอบระยะเวลาเยียวยา และเงินรายได้ที่นำส่งแผ่นดินระหว่างการเยียวยา ซึ่งทาง กสทช.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ เบื้องต้นได้เตรียมแนวทางไว้ ประกอบด้วย การขยายเวลาเยียวยาไปจนกว่าผู้ชนะการประมูลในรอบใหม่จะได้รับใบอนุญาตภายใต้กรอบเวลาชัดเจน หรือจะขยายเวลาตามกำหนดวันที่เอไอเอสร้องขอ ซึ่งจะต้องให้ คสช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

"เรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวเงินรายได้ในช่วงระยะเวลาเยียวยาที่เอไอเอสต้องจ่ายให้กับกสทช.หลังหมดความคุ้มครองของศาลปกครองที่ขยายไปเป็นในวันที่ 14 เมษายน เอไอเอสก็จะต้องจ่ายค่าเช่าคลื่นไปก่อนก้อนหนึ่ง และหลังจากนั้นก็รอดูความชัดเจนจาก คสช.ว่าเห็นชอบอย่างไร ซึ่งทาง กสทช.จะเป็นผู้กำหนดทั้งระยะเวลาการเยียวยาจนกว่าจะมีผู้ชนะการประมูลครั้งใหม่ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เอไอเอสต้องจ่ายซึ่งจะต้องจ่ายเป็นช่วงเวลาที่ กสทช.กำหนด"นายฐากร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ