บล.โกลเบล็ก มอง SET Index สัปดาห์นี้อ่อนตัว 1,350-1,360 จุด หลังราคาน้ำมันลง-บาทอ่อน-กังวลเฟดขึ้นดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 24, 2016 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยยศ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงโดยมีแนวรับที่บริเวณ 1,350-1,360 จุด เนื่องจากยังขาดปัจจัยใหม่มาสนับสนุน

ขณะที่มีปัจจัยลบกดดันอยู่ ทั้งจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 เดือนมาแตะที่ 35.80 บาท/ดอลลาร์ แม้จะเป็นผลดีต่อการส่งออก แต่กลับกดดันต่อ Fund Flow ต่างชาติให้ขายสุทธิตลาดหุ้นไทยได้อีก รวมถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือน มิ.ย.

ดังนั้น แนะนำเข้าซื้อในช่วงอ่อนตัวแบบ Selective Buy ได้แก่ กลุ่มส่งออก เช่น กลุ่มอาหาร และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หุ้นที่จะเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard Index รอบใหม่ ได้แก่ ROBINS EGCO และดัชนี MSCI Global Small Cap index ได้แก่ DNA GL S มีผล 31 พ.ค. รวมไปถึงกลุ่มเหล็ก จากราคาเหล็กรีดร้อนปรับตัวขึ้นทำ High ล่าสุด 581 ดอลลาร์/ตัน เพิ่มขึ้น 59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาน้ำตาลดีดตัวขึ้นล่าสุด 17.3 ดอลลาร์/ตัน

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ GBS เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกจากภาพรวมการท่องเที่ยวไตรมาส 2 ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.46 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.9% สร้างรายได้ 3.55 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวตลาดอาเซียนมีอัตราการเติบโตสูง

และในเดือน มิ.ย.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เตรียมคิกออฟ “ดิจิทัลไทยแลนด์" ลงทุน 20,000 ล้านบาท บรอดแบนด์กว่า 2 แสนกิโลเมตร เข้าถึง 70,000 หมู่บ้าน อีกทั้งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกรีซผ่านกฎหมายตัดลดงบประมาณแลกเงินกู้งวดที่ 3 มูลค่า 8 หมื่น 6 พันล้านยูโรโดยกรีซจำเป็นต้องชำระหนี้เป็นจำนวน 300 ล้านยูโรคืนให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และอีก 2.3 พันล้านยูโรให้แก่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนมิถุนายน

ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงกดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ กรณีราคาน้ำมันปรับตัวลงต่อเนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบที่สูงเกินไป และนักลงทุนมีความกังวลว่า FED อาจจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมระหว่างวันที่ 14-15 มิ.ย. อย่างไรก็ดี ล่าสุดสหรัฐได้เปิดเผยรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือน พ.ค.อยู่ที่ 50.5 ลดลงจากระดับ 50.8 ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 เดือนแตะ 35.8 บาท/ดอลลาร์ กดดันต่อ Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาคือ ในวันนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีที่อาจพิจารณาโครงการรถไฟรางคู่ และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่ง(คสช.)จะแถลงผลงาน 2 ปีในรายการ “เดินหน้าประเทศไทย"และ วันที่ 26 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออก-นำเข้าของเดือน เม.ย.59 ส่วนวันที่ 27 พ.ค. กสทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz รอบใหม่ซึ่งมี ADVANC ยื่นเอกสารประมูลรายเดียว พร้อมวางแบงก์การันตี 3.7 พันล้านบาทแล้ว

สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ นายสุทธิพงษ์ ศรีพรประเสริฐ นักวิเคราะห์การลงทุน GBS เปิดเผยว่า ราคาทองคำในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลง 21 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือคิดเป็น 1.65% ปิดที่ระดับ 1,251 ดอลลาร์/ออนซ์

ปัจจัยกดดันราคาทองคำมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐหลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 26-27 เม.ย.โดยระบุว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. หากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประธานเฟดสาขาแอตแลนตาและสาขาซาน ฟรานซิสโกออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้ รวมถึงประธานเฟดสาขาริชมอนด์ออกมาสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย.นี้

อีกทั้งสหรัฐรายงานตัวเลขดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นมากกว่าคาดในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.56 และรายงานยอดขายบ้านมือสองที่เพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย.สู่ระดับสูงสุดในรอบสามเดือน ซึ่งได้จุดกระแสการคาดการณ์ถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น

ดังนั้น ประเมินแนวโน้มราคาทองโลกด้านเทคนิค ปรับลงต่ำกว่าแนวรับเส้น 5 และ 10 วัน ด้วยการสร้างแท่งเทียน BEARISH บวกกับค่าสัญญาณทางเทคนิคที่ปรับลง ทำให้ราคาแนวโน้มปรับตัวลงแต่จะลงไม่มากเนื่องจากแนวโน้มหลักอยู่ในช่วงพักตัวแนวแขน BULLISH FLAG โดยมีแนวรับ 1,225-1,230 ดอลลาร์/ออนซ์ และแนวต้าน 1,285-1,290 ดอลลาร์/ออนซ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ