(เพิ่มเติม1) รัฐบาลดันร่าง กม.ปิโตรเลียมฉบับใหม่ให้ สนช., คาดเปิดรับข้อเสนอรอบ 21 กลางปีหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 7, 2016 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.วันนี้มีมติรับทราบและเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่... ) พ.ศ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาต่อไป หลังจากเพิ่มทางเลือกให้รัฐบาลสามารถนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) มาใช้นอกเหนือจากระบบสัมปทาน

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปด้านพลังงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และเพิ่มเติมหมวด 3/1 และ 3/2 เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสามารถนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (SC) มาใช้ โดยระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ได้นำหลักการของระบบ PSC ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area : MTJDA) มาปรับใช้

ดังนั้น จะทำให้ระบบบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม มี 3 ระบบ คือ (1) ระบบสัมปทานปิโตรเลียม (2) ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และ (3) ระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต และเห็นควรให้การกำกับดูแลยังคงอยู่ภายใต้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม ในส่วนของ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการที่เพิ่มเติม

ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดว่าจะสามารถเปิดรับข้อเสนอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 ได้ภายในกลางปีหน้า โดยขั้นตอนหลังจาก ครม.รับทราบร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเพิ่มเติมระบบ PSC และระบบ SC แล้ว ก็จะเสนอ สนช.ต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน ขณะเดียวกันจะหารือกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อทำกฎหมายลูกและกฎกระทรวงควบคู่ไปด้วย คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 9 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการดำเนินการแก้ไขร่างกม.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ โดยที่ประชุมรับข้อสังเกตจากทุกหน่วยงาน แล้วส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตรวจพิจารณาแล้วเสนอ ครม.อีกครั้ง ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป โดยที่ประชุมได้เพิ่มทางเลือกระบบบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมให้รัฐบาลสามารถนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลผลิตมาใช้ นอกเหนือจากระบบสัมปทานแบบเดิม

ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาและ ครม.เห็นว่า ยังมีรายละเอียดไม่ชัดเจน โดยได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังไปหารือร่วมกันและหากได้ข้อสรุปอย่างไร และถ้ามีความจำเป็นก็ให้เสนอ ครม.กลับมาใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ