บล.กสิกรไทย เพิ่มเป้า SET สิ้นปี 59 เป็น 1,500 จุดจากเดิม 1,470 จุด รับศก.ไทยฟื้นดีกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 14, 2016 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย (SET) สิ้นปี 59 เป็นระดับ 1,500 จุด จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ระดับ 1,470 จุด หลังมองตลาดหุ้นได้รับปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจะเห็นจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 1/59 ที่เติบโต 3.2% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.8% และแนวโน้มในช่วงไตรมาสต่อไปก็ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตดีกว่าคาดตั้งแต่ไตรมาส 1/59 ส่งผลให้แนวโน้มของกำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 93 บาท/หุ้น จากเดิมคาดที่ 87 บาท/หุ้น

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ผลประกอบการมีแนวโน้มที่ดีและจะช่วยผลักดันกำไรของ บจ.เพิ่มขึ้น และช่วยหนุนดัชนีตลาดหุ้นไทย ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่กำไรของกลุ่มธนาคารยังเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งแนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารมีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้ธนาคารพาณิชย์อาจตั้งสำรองลดลง ส่งผลให้กำไรดีขึ้น อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารขยายตัวได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น หลังยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) พลิกกลับมาเป็นบวก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่นักวิเคราะห์ปรับแนวโน้มที่ดีมากขึ้น คือ กลุ่มพลังงาน ที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ส่วนต่าง (สเปรด) ราคาขายน้ำมันกับต้นทุนดีขึ้น ทำให้บริษัทพลังงานหลาย ๆ แห่งมีกำไรเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่วนปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายในประเทศ เช่น การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผลออกมาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีก และส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงในระยะสั้นได้ แต่หากผลประชามติออกมารับร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าจะเกิดการเลือกตั้งภายในปี 60 และทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาเป็นบวกได้

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องการเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลซึ่งอาจเกิดความล่าช้า ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่มากนัก อีกทั้งความไม่แน่นอนของปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านรายได้ของเกษตรกร และภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มติดลบมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยกดดันจากต่างประเทศที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนการลงประชามติว่าสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ในวันที่ 23 มิ.ย.59 เป็นปัจจัยที่กดดันในระยะสั้นเพียง 1 เดือนเท่านั้น เนื่องจากอังกฤษแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก แต่ไม่ได้มีการติดต่อค้าขายกับตลาดในภูมิภาคเอเชีย และสหรัฐฯ ทำให้ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

แต่จะมีผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนอย่างมากไนระยะสั้น หากผลประชามติออกมาให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิก EU ซึ่งอังกฤษเป็นศูนย์กลางตลาดเงินของโลก ซึ่งจะส่งผลให้นักลงขายทำกำไรในตลาดหุ้นออกมา และมองหาการลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงหรือการถือเงินสดไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวน ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยในช่วงระยะเวลา 1 เดือนอาจจะมีการย่อตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด จากปัจจุบันที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,450-1,470 จุด

ทั้งนี้ บล.กสิกรไทยแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนไนหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศที่ได้รับผลบวกจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น อย่างเช่น SCB, CPF, CPALL, HMPRO, SCC เป็นต้น อีกทั้งกลุ่มพลังงานเป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากราคาพลังงานได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยหุ้นพลังงานที่แนะนำ คือ PTT ส่วนหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโครงการของภาครัฐ ได้แก่ CK นอกจากนี้ยังมีหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่แนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอยู่มาก ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการเปิดตัวโครงการมากขึ้น โดยแนะนำ SPALI

ส่วนหุ้นที่ บล.กสิกรไทยแนะนำให้หลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิตอลบางตัว อย่างเช่น BEC และ MCOT และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งยังแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนไนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลและโรงแรม เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมากจนแพงแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ