"อาคม"ลั่นไฮสปีดเทรนไทย-จีนเริ่มก่อสร้างตอนแรกใน ก.ย.จี้ลดกรอบเงินลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 16, 2016 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนจัดประชุมครั้งที่ 11 ในกรุงเทพวันนี้เพื่อติดตามการทำงานร่วมกัน หลังจากมีข้อตกลงจะสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กม.ด้วยการแบ่งออกเป็นตอน โดยจะเริ่มก่อสร้างตอนที่ 1 ข่วงสถานีกลางดง (จ.นครราชสีมา) ระยะทาง 3.5 กม.ก่อนในเดือน ก.ย. 59 เป็นจุดเริ่มต้นโครงการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เร่งรัดให้ฝ่ายจีนออกแบบรายละเอียด (Detail&Design) ให้แล้วเสร็จภายใน1 เดือน เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในเดือน ส.ค. ส่วนวงเงินลงทุนทั้งโครงการจะต้องสรุปให้ได้ภายในการประชุมวันนี้เพื่อเป็นกรอบเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยสั่งการให้ฝ่ายเทคนิคของทั้งสองประเทศหารือร่วมกันเพื่อปรับลดวงเงินลง เนื่องจากตัวเลขที่จีนเสนอมายังสูงไป

"ค่าก่อสร้าง 2 ฝ่ายต้องคุยกันเพื่อปรับลดลงอีก แต่หลักการจะไม่ลดสถานีจาก 6 สถานีตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเดิมซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ออกแบบไว้ รวมถึงการลดต้นทุนจะต้องไม่กระทบต่อมาตรฐานโครงสร้าง ระบบ และความปลอดภัย"รมว.คมนาคม กล่าว

ทั้งนี้ หลักการของโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณสำหรับการเวนคืน ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะใช้เงินกู้ภายในประเทศหรืออาจจะระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ระบบรถไฟ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถใช้ได้ทั้ง กู้เงินในประเทศ กู้จากต่างประเทศ หรือกู้จากจีน ขึ้นกับกระทรวงการคลังจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาสมที่สุด

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สรุปรายละเอียดการก่อสร้างของงานตอนแรกช่วงสถานีกลางดง ต้องแบ่งตอนการก่อสร้างในส่วนที่เหลือให้ชัดเจนว่ามีกี่ตอน และแต่ละตอนการออกแบบรายละเอียดจะเสร็จเมื่อใด เริ่มก่อสร้างในแต่ละตอนช่วงเวลาใด เนื่องจากทางจีนระบุว่าจะออกแบบรายละเอียดตลอดเส้นทางระยะทางกว่า 250 กม.เสร็จในอีก 8 เดือน หรือเสร็จในเดือนก.พ. 60 ซี่งไทยมองว่าหากรอให้การออกแบบเสร็จทั้งโครงการก่อนคงไม่ได้ แต่น่าจะทยอยออกแบบและก่อสร้างไปทีละตอน

"การเริ่มช่วงสถานีกลางดง โคราชก่อน เพราะระยะทางสั้น เป็นทางเรียบ ใช้พื้นที่เขตทางรถไฟตลอด ไม่ต้องเวนคืนเพิ่มเติม ถือว่าอุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งจะใช้ม.44 ดำเนินการ เนื่องจากอยู่ระหว่างยื่นเสนอ EIA ดังนั้นเมื่อเปิดประมูลได้ผู้รับเหมาแล้วจะลงนามสัญญาได้ต้องรอ EIA ผ่านก่อน แต่ไม่น่ามีปัญหา"นายอาคม กล่าว

ในช่วงบ่ายนี้จะมีการหารือการปรับรายละเอียดของกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC) ใหม่ เนื่องจากหลักการตามข้อตกลงเดิมมีการเปลี่ยนแปลง และช่วงเย็นวันนี้จะมีการลงนามเพื่อรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 11 ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ