PTT คาดปีนี้กำไรธุรกิจน้ำมันเพิ่ม-อัดงบส่งเสริมการขายหวังรักษาแชร์ค้าปลีก 40% หลังตลาดแข่งขันสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 20, 2016 09:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท.(PTT) คาดว่ากำไรของธุรกิจน้ำมันในปีนี้จะดีขึ้นจากปีก่อน แม้รายได้อาจจะไม่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ด้วยปริมาณการขายที่เติบโตตามความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนกำไรได้ ขณะที่มาร์จิ้นต่อหน่วยยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยปตท.ยังได้เพิ่มงบส่งเสริมการขายของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเพื่อมุ่งเน้นรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่ 40% เนื่องจากภาวะตลาดรวมมีการแข่งขันสูงหลังปริมาณการใช้น้ำมันพุ่งขึ้นต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่ต่ำ ขณะที่การศึกษาแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะสรุปได้ในสิ้นปีนี้ก่อนพิจารณาจะนำธุรกิจดังกล่าวเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่

"ราคาน้ำมันปีที่แล้วเฉลี่ย 50 (เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) กว่า ๆ ปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะเฉลี่ยระดับ 40 ต้น ๆ เพราะราคาต้นปีต่ำมากถ้าเทียบกับราคาเฉลี่ยในปีที่แล้วต่างกัน 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในเทอมรายได้อาจไม่สูงขึ้นแม้ยอดขายเป็นขายลิตรจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ตัวเงินอาจไม่ได้เพิ่ม แต่ปริมาณเพิ่มขึ้น มาร์จิ้นต่อหน่วยใกล้เคียงเดิม ตัวเงินกำไรควรจะเพิ่มขึ้น"นายอรรถพล กล่าว

ปีที่แล้ว PTT มีกำไรสุทธิ 1.99 หมื่นล้านบาท ,ยอดขาย 2.03 ล้านล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 2.85 แสนล้านบาท ขณะที่ธุรกิจน้ำมัน สามารถทำยอดขายได้ที่ 5.12 แสนล้านบาท และมี EBITDA ที่ระดับ 1.46 หมื่นล้านบาท

นายอรรถพล คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้จะเติบโต 6% จากปีที่แล้ว โดยความต้องการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล น่าจะขยายตัวได้ถึง 8% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันอื่น ๆ ต่างออกแผนส่งเสริมการขายเพื่อแย่งชิงตลาดตามปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของปตท.ก็คาดว่าปริมาณขายน้ำมันจะเติบโตตามตลาดรวม หลังในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ก็สามารถเติบโตได้ใกล้เคียงตลาดรวมที่ 6% โดยปีนี้ปตท.ได้เพิ่มงบส่งเสริมการขายธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเป็นเกือบ 400 ล้านบาท จากระดับปกติที่ใช้ราว 300 ล้านบาท/ปี เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมันที่ระดับ 40% เป็นอันดับ 1 ของตลาด

ขณะที่ตามแผนงบลงทุน 5 ปี (ปี 59-63) ของธุรกิจน้ำมันที่ระดับ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นงบลงทุนในปีนี้ราว 9 พันล้านบาทนั้น ส่วนหนึ่งจะถูกใช้ในการลงทุนของกลุ่มค้าปลีกน้ำมัน ที่มีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันเป็น 1,575 แห่งในสิ้นปีนี้จาก 1,450 แห่งในปัจจุบัน ซึ่งการขยายสถานีบริการน้ำมันจะมีหลากหลายรูปแบบทั้งในส่วนของคอมแพ็กโมเดลขนาดเล็ก ที่อยู่บนถนนสายรอง จากปัจจุบันที่รูปแบบของคอมแพ็กโมเดลจะเป็นสถานีบริการอยู่ในบนถนนสายหลัก ซึ่งตั้งเป้าหมายจะมี 50 แห่งในปีนี้ ,สถานีบริการรูปแบบที่จะเพิ่มพื้นที่รีเทลมากกว่าบริการเติมน้ำมัน เป็นต้น รวมถึงจะขยายร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน เพิ่มเป็น 1,700 แห่งในสิ้นปีนี้จาก 1,500 แห่งในปัจจุบัน

รวมถึงมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีอยู่ในกัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ เมียนมา เป็น 200 แห่งในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 500 แห่งในปี 63 ตลอดจนจะขยายร้านคาเฟ่อเมซอน เป็น 70 แห่งในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 400 แห่งภายใน 5 ปี จากปัจจุบันที่มีสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศ 160 แห่ง และร้านคาเฟ่อเมซอน 30 แห่ง

นอกจากนี้ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในส่วนของนอนออยล์ ก็ยังมองหาธุรกิจอื่นเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เป็นเจ้าของเองในส่วนของร้านคาเฟ่อเมซอน ,ร้านจิฟฟี่ ,ร้านชานมไข่มุก Pearly Tea ธุรกิจที่ความร่วมมือพันธมิตรอย่างร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ธุรกิจประเภทมาสเตอร์แฟรนไชส์ เช่น Texas Chicken , ร้านโดนัท Daddy Dough เป็นต้น

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับงบลงทุนดังกล่าวนอกจากจะใช้ขยายในส่วนค้าปลีกน้ำมันแล้ว ยังจะใช้ลงทุนในธุรกิจน้ำมันอื่น ๆ ที่ประกอบด้วย ตลาดพาณิชย์ที่มีปริมาณขายและกำไรใกล้เคียงกับตลาดค้าปลีก เช่น การขายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในภาคอุตสาหกรรม ,การขายน้ำมันอากาศยานที่ในปีนี้เติบโตอย่างรวดเร็วจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวมาก รวมถึงการทำข้อตกลงกับสายการบินต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าน้ำมันกับบริษัทน้ำมันที่เป็นพันธมิตรในกลุ่มซึ่งมีเครือข่ายหลายประเทศ ทำให้สามารถทำตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันปตท.มีเครือข่ายทั้งในเกาหลีใต้ ,อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น , จีน และมาเลเซีย

นอกจากนี้ในส่วนของตลาดพาณิชย์ ยังมีลงทุนในส่วนของ LPG ที่เป็นการค้าปลีก สถานีบริการ โรงบรรจุก๊าซฯ และร้านค้าก๊าซฯ ตลอดจนการลงทุนในส่วนของธุรกิจน้ำมันเครื่องด้วย รวมถึงธุรกิจของบริษัทลูกในกลุ่มของธุรกิจน้ำมัน เช่น ธุรกิจลูกที่ทำด้านการขนส่งน้ำมันทางท่อ เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าในการศึกษาการแยกธุรกิจค้าปลีกของปตท.นั้น ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งได้ว่าจ้างที่ปรึกษาหลายกลุ่มมาร่วมศึกษากับปตท. โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ก่อนจะตัดสินใจว่าจะนำธุรกิจค้าปลีกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือไม่ ซึ่งหากจะต้องนำธุรกิจดังกล่าวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯจะพิจารณาจากประเด็นหลัก คือ ความโปร่งใส และความคล่องตัวในการทำธุรกิจ

"ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษา มีหลายมิติ เราต้องศึกษาให้ครบถึงจะรู้ว่าเป็นอย่างไร ก็จะเสร็จปลายปีนี้จะตัดสินใจว่าจะเข้าหรือไม่เข้า ถ้าต้องเข้าต้องพิจารณาจากสองประเด็นหลัก ๆ คือ ตอบเรื่องความโปร่งใสได้หรือไม่ ธุรกิจน้ำมันมีการแข่งขันเสรีแต่พอเป็นตัวปตท.มันคืออะไรหรือไม่ และความคล่องตัวในการทำธุรกิจ"นายอรรถพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ