ADVANC มั่นใจจะกลับมามีส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้มากกว่า 50% หลังได้คลื่น 900 MHz

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 28, 2016 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า จากที่เอไอเอสได้คลื่น 900 MHz ด้วยราคา 75,654 ล้านบาทในการประมูลรอบใหม่นั้น จะช่วยเปลี่ยนให้เอไอเอสมีส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้ (Revenue Market Share) เกินกว่า 50% ได้อย่างมั่นใจ หลังจากก่อนหน้าที่ไม่ได้คลื่น 900 MHz เอไอเอสมี Revenue Market Share ต่ำกว่า 50% หรือประมาณ 48-49% และจะช่วยหยุดให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายพิเศษในการเปลี่ยนโอนลูกค้า 2G ลดลงจากเดิมที่ตั้งงบไว้ 8 พันล้านบาท แต่ ณ วันนี้จ่ายไป 3.4 พันล้านบาท และไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีกแล้ว

แต่ยังดำเนินแคมเปญอุดหนุนเครื่องโทรศัพท์ 3G ให้ลูกค้าเอไอเอสที่แม้ว่าจะย้ายไประบบ 3G แต่ยังใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือระบบ 2G มีจำนวน 6 ล้านรายภายในระยะเวลา 2 ปี โดยใช้งบการตลาดแทนที่มีงบอยู่ราว 4% ของรายได้แทนงบพิเศษ

ขณะเดียวกันจะโยกงบลงทุน 1 หมื่นล้านบาทที่เดิมจะขยาย blind spot รองรับลูกค้า 2G หันมาขยายโครงข่าย 4G คลื่น 1800 MHz เพิ่มครอบคลุมพื้นที่ได้ถึง 80% ภายในสิ้นปีนี้จากแผนเดิมขยายครอบคลุม 50% ซึ่งจะทำให้เอไอเอสสามารถลงแข่งขันศึก 4G ที่ระอุร้อนแรงในปีนี้ ทั้งนี้ งบลงทุนปีนี้ยังคงอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท

พร้อมทบทวนเป้าหมายแผนธุรกิจปีนี้ โดยจะประกาศในเดือน ส.ค.นี้หลังจากผลประกอบการไตรมาส 2/59 ประกาศออกมา และมั่นใจว่าในปี 60 ผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่นโยบายการจ่ายเงินปันผลในปีนี้ยังคงจ่ายในอัตรา 100% ของกำไรสุทธิ แต่ในปีถัดไปไม่แน่ใจ

"จากเดิมไม่ได้คลื่น 900 MHz ทำให้เรามี Revenue Market Share ต่ำกว่า 50% หรือ 48-49% แต่เมื่อได้คลื่น 900 MHz เรามั่นใจว่าจะมี Revenue Market Share ได้มากกว่า 50% แน่นอน ซึ่งจะทำให้มีรายได้มากขึ้นเพื่อนำมาชดเชยกับค่าใบอนุญาตได้"นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายก็ลดลง จากที่บริษัทได้ตั้งงบพิเศษ จำนวน 8 พันล้านบาทเพื่อใช้ในการย้ายลูกค้า 2G เปลี่ยนเครื่องมือถือฟรีเป็น 3G เพื่อดูแลต่อก่อนที่หมดเวลาเยียวยา แต่ต่อไปนี้ไม่ต้องเร่งแล้ว จึงทำให้บริษัทหยุดใช้จ่ายงบส่วนนี้ ซึ่งตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบันใช้ไป 3.4 พันล้านบาทในการเปลี่ยนเครื่องลูกค้า 2G และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลงก็จะทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น มีเงินพอจ่ายค่าใบอนุญาตฯ

อย่างไรก็ดี โครงการเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์มือถือจาก 2G มา 3G ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องเร่งรัดลูกค้าก่อนหมดเวลาเยียยา แต่ให้เป็นการเปลี่ยนโดยธรรมชาติ โดยบริษัทมีแผนจะดำเนินการแคมเปญนี้ไปอีก 2 ปี เพราะคำนวณจากลูกค้า 3G แต่ยังถือโทรศัพท์ระบบ 2G ที่มีอยู่ประมาณ 6 ล้านราย ส่วนลูกค้า 2G ที่ใช้เครื่องมือถือ 2G มีประมาณ 3 แสนรายก็ยังไม่มากนักก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น

นายสมชัย กล่าวว่า การได้คลื่น 900 MHz ครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่ามากสำหรับเอไอเอส เพราะสามารถไปเพิ่มมูลค่าได้ โดยบริษัทมีแผนจะนำคลื่น 900 MHz มาใช้รองรับลูกค้าที่ใช้มือถือระบบ 2G และบางส่วนนำไปขยายโครงข่ายระบบ 3G และ 4G ในพื้นที่ห่างไกล ขณะที่บริษัทได้โยกงบลงทุน 1 หมื่นล้านบาทที่เดิมจะใชัลงทุนขยายโครงข่าย blind spot ก็ไม่จำเป็นแล้ว จึงนำไปลงทุนเพิ่มโครงข่าย 4G คลื่น 1800 MHz ได้มากขึ้น ทำให้สิ้นปีนี้จะครอบคลุมเป็น 80% จากแผนเดิมครอบคลุม 50% ซึ่งการปรับเปลี่ยนการลงทุนโครงข่ายเช่นนี้ ทำให้เอไอเอสยังคงมุ่งเน้นให้ Network มีคุณภาพมากขึ้น

"ผมเชื่อว่า แผนการตลาดยังคงเหมือนเดิม เรายังมุ่งมั่นตั้งใจเป็นผู้นำ Mobile Broadband อยู่ โดยการที่เราได้คลื่น 900 MHz มาจะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะเหมือนกับเราไม่ได้ต้องเสียเวลาในเรื่องที่ไม่ควรทำ หรือเร่งทำเช่น การเร่งเปลี่ยนเครื่อง 2G เป็น 3G ซึ่งต้องใช้คนมาดำเนินการจำนวนมาก เปลี่ยนมาให้รองรับการขยายลูกค้า 3G/ 4G ใหม่ ...แผนหรือเป้าไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ทำให้การทำงานสะดวกมากขึ้น เรามีแคมเปญภายในว่า "วันนี้ เอไอเอสจะติดปีก" แล้ว ก็จะทำให้ทุกคนทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวอย่างมั่นใจ

ฉะนั้น บริษัทจะทบทวนเป้าหมายการดำเนินงานใหม่ในปีนี้หลังจากที่ได้คลื่น 900 MHz พร้อมปรับแผนธุรกิจระยะยาว โดยจะประกาศในเดือนส.ค.นี้หลังประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/59 และมั่นใจว่าผลประกอบการในปี 60 จะมีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากที่ปีนี้บริษัทสาละวนกับเรื่องคลื่น 900 MHz ในช่วงครึ่งปีแรก

ในปีนี้ภาพรวมตลาดโทรคมนาคมโดยรวมยังดีกว่าอุตสาหกรรมอื่น เพราะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น แต่จะเติบโตมากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อีก 1% อาทิ จีดีพีโต 3% อุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็จะโต 4% โดยในส่วนดาต้าจะเติบโต 20-30% ในปีนี้ แต่ voice จะโตลดลง 20-30% ซึ่งเอไอเอสมีทิศทางเติบโตเช่นเดียวกับอุตสาหกรรม

"รอผลประกอบการไตรมาส 2/59 และแผนธุรกิจระยะยาว ซึ่งต้องยอมรับว่าจะให้พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ คงไม่ได้ ต้องใช้โมเมมตัม พอเราได้คลื่น 900 MHz มาเหมือนติดปีก แต่เราต้องใช้เวลา 3-6 เดือนในการสร้างโครงข่าย เพิ่มขึ้นมาให้แข็งแรง ผมเชื่อว่าจะส่งผลในต้นปีหน้ามากกว่า แผนต่างๆ แน่นอนเราจะกลับมาแข็งแรงมาก ตอนนี้เรายอมรับว่าโครงข่าย 4G ช้ากว่าคู่แข่ง 1 ปีเพราะเขาทำก่อน แต่ เอไอเอสได้คลื่น 1800 MHz เมื่อปลายปีที่แล้ว และครึ่งปีแรกนี้ เราสะดุดเรื่อง 900 MHz ที่ยังไม่ได้ครอบครองคลื่น แต่เมื่อกลับมาประมูลคลื่นได้ ก็กลับมาปรับแผนในช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งคาดว่าคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แต่จะเปลี่ยนแปลงและเห็นผลได้ชัดในปี 60 ทั้งเรื่อง Revenue Market Share , จำนวนฐานลูกค้า , EBITDA Margin "นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลาที่เอไอเอสมีโครงข่าย 4G พร้อมให้บริการแข่งกับคู่แข่ง โดยที่ผ่านมาลูกค้าของเอไอเอสไปใช้ 4G ของคู่แข่ง แต่เมื่อเอไอเอสขยายโครงข่ายได้ 80% ในปีนี้ จะทำให้ลูกค้าที่มีความเชื่อมั่นกับเอไอเอสก็จะกลับมา

"เวลาเรามีของครบ หรือมี 4G เมื่อก่อนเราไม่มี 4G ลูกค้าไปใช้ซิมคู่แข่งเพื่อไปใช้ 4G แต่พอเรามี 4G เขาก็กลับมาใช้ของเรา เพราะลูกค้าของเราไม่ได้ทิ้งซิมเรา ข้อดีของเราลูกค้ามี royalty กับเรามาก ไปใช้คู่แข่งชั่วคราววันที่เราไม่มี แต่จะค่อย ๆ มาตาม network rollout ซึ่งปลายปีนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 80% บน 1800 MHz วันนี้เราแข่งกันที่ 4G ส่วน 3G ไม่มีปัญหา เราขยายโครงข่าย 2100 ได้ 98% แล้ว เมื่อโครงข่าย4G ครอบคลุมได้ 80% ลูกค้าจะโพสต์เพดหรือพรีเพดเราไม่ได้สนใจ ต้นปีหน้าผมเชื่อว่าโมเมมตัมของเราจะดีขึ้น Network 4G ดี ลูกค้าที่รอ 4G ก็จะกลับมาใช้ของเรา ผมเชื่อว่าคนใช้มากขึ้นก็จะมีรายได้มากขึ้นด้วย" นายสมชัย กล่าวถึงโอกสวธุรกิจในอนาคต

ณ สิ้นปี 58 มีจำนวนลูกค้าทั้งหมด 38.5 ล้านเลขหมาย และ ณ สิ้นไตรมาส 1/59 มีจำนวนลูกค้ารวม 38.9 ล้านเลขหมาย มีลูกค้าเติมเงิน(พรีเพด) จำนวน 33.5 ล้านราย และลูกค้าแบบรายเดือน (โพสต์เพด) จำนวน 5.4 ล้านราย หรือสัดส่วน ร้อยละ 85: 15 ทั้งนี้ เอไอเอสตั้งเป้าลูกค้า 4G จำนวน 10 ราย จากปัจจุบันมีจำนวน 6 ล้านรายแล้ว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริการ AIS Fiber หรือธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง(Fixed Broadband) เป็นการบริการให้ลูกค้าด้วย ตั้งแต่นายสมชัยนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพราะเห็นว่านอกจาก เอไอเอสจะเป็นผู้นำ Mobile อยู่แล้ว ธุรกิจ Fixed Broadband ก็สำคัญ เพราะอนาคตอินเตอร์เน็ตจะมีความจำเป็น เอไอเอสจะมีทั้ง Mobile Internet และ Fixed Broadband ผสมผสานมาให้บริการลูกค้าได้ โดย AIS Fiber เริ่มทำมา 1 ปีกว่าแล้วมีจำนวนฐานลูกค้า 1.3 แสนราย มีลูกค้า request จากเอไอเอสเป็นจำนวนมาก

โดย Fixed Broadband ของเอไอเอสเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เป็นใช้ FTTX เทคโนโลยี เป็นไฟเบอร์ออฟติกที่ไปถึงบ้าน ดีและทันสมัยที่สุด ปัจจุบัน ตลาด Fixed Broadband มีผู้ใช้ 5-6 ล้านครัวเรือน โดย 98% เป็นเทคโนโลยี ADSL ซึ่งจะต้องเปลี่ยน และคาดว่าภายใน 3 ปี ลูกค้า Fixed Broadband จะเพิ่มอีก 2 ล้านครัวเรือน มาเป็น 7-8 ล้านครัวเรือน

ณ วันนี้ เอไอเอสมีทั้งช้อปและเอเย่นต์ของเอไอเอสรวมอย่างน้อยกว่า 3 หมื่นร้านทั่วประเทศที่พร้อมจะรุกตลาด โดยมองว่าการแข่งขันมีอยู่ตลอดเวลาแล้ว แข่งกันให้ช้อเสนอ(offer) ของแต่ละราย เอไอเอสนำเสนอโครงข่ายคุณภาพ บริการที่ดี มีสิทธิประโยชน์ ต่อให้การแข่งขันแรงอย่างไร ลูกค้าจะเลือกข้อเสนอที่ชื่นชอบมากกว่า

*ย้ำปีนี้จ่าย 100% แต่ปีหน้าไม่แน่

ส่วนนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท นายสมชัย กล่าวย้ำว่า ในปีนี้บริษัทมีนโยบายจ่ายในอัตรา 100% ของกำไรสุทธิ แต่ในปีถัดไปยังไม่แน่ใจ ต้องรอการทบทวนเรื่องนี้ไปพร้อมกับแผนธุรกิจระยะยาวด้วย

"เรากำลัง Review เรื่องการจ่ายปันผลในปีถัดไปที่จะให้ข้มูลต่อผู้ถือหุ้น เรากำลังรอดูผลประกอบการในไตรมาส 2/59 อยู่ ประมาณส.ค.นี้ เราจะประกาศ ปีนี้ยังจ่าย 100% ส่วนปีถัดไปขึ้นอยู่กับแผน จริง ๆ แล้วในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกการจ่ายเงินปันผลเกิน 50% ก็เก่งแล้ว แต่ไม่ใช่เราจะไปทำอย่างนั้น บางโบรกฯมองว่าเราจะจ่ายในอัตรา 70-80%"

"ของดีทั้งหมดผมบอกนักลงทุนไปรอปีหน้าดีกว่า ปีนี้ยังคลุมเครือ ปีนี้เป็นปีที่อยู่ระหว่างการปรับตัว การเอาคลื่น 900 มาจะ reset อุตสาหกรรมที่ครึ่งปีแรกมั่ว" นายสมชัยกล่าว

ส่วนการเป็นพันธมิตรกับบมจ.ทีโอทีนั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า บริษัทได้เจรจากับทีโอทีเรียบร้อยแล้ว วันนี้ขั้นตอนอยู่ที่ทีโอที ว่าทีโอทีจะเริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อไรและอย่างไร โดยแผนธุรกิจที่จะทบทวนใหม่จะใช้ 2 สมมติฐานทั้งการทีเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทีโอที กับ ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับทีโอที

ทั้งนี้ หากได้เป็นพันธมิตรกับทีโอที เอไอเอสจะได้คลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz ซึ่งจะทำให้เอไอเอมีคลื่นมากขึ้น สามารถมี capacity มากขึ้น เพื่อนำมาบริหารจัดการคลื่นได้ดียิ่งขึ้น และทำให้มีรายได้มากขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายประมาณ 300 ล้านบาท/เดือน โดยมีอายุใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เหลืออยู่ 9 ปี

"ขึ้นอยู่เขา (ทีโอที) ถ้าเขาให้ทำก็ทำ ถ้าไม่ให้ทำก็ไม่ทำ เพราะเรามีคลื่นเพียงพออยู่แล้ว ทั้ง 1800 MHz 15 MHz 2100 MHZ 15 MHz 900 MHz 10 MHz ทั้งหมด 40 MHz ตอนที่เรายังไม่ได้คลื่น 900 MHz เพราะอยู่ที่เทคนิคเอ็นจิเนียริ่ง ผมก็ยังบอกว่าเรามีคลื่นพอเพียงดูแลลูกค้า แต่ถ้ามีคลื่นความถี่มากเราก็จะบริหารจัดการง่ายขึ้น"นายสมชัย กล่าว

*ยังไม่มีแผนออกกองทุนอินฟราฯฟันด์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล้าวว่า ตอนนี้บริษัทยังไม่ได้คิดจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพราะวันนี้เอไอเอสยังมีเครื่องมือทางการเงินอีกมาก วันนี้ เอไอเอส เป็นบริษัทชั้นดี บริษัทมีต้นทุนการเงินถูก บริษัทมีเครดิตที่ดีต่อสถาบันการเงิน และยังมีทรัพย์สินจำนวนมาก ถ้าจะจัดตั้งกองทุนคาดว่าระดมทุนได้จำนวนมาก แต่ยังไม่ถึงจุดที่จำเป็น แม้ว่าวันนี้ เอไอเอสมีทรัพย์สินมากกว่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จัดตั้งอยู่ โดยบริษัทมีเสาโทรคมนาคม มากที่สุดในประเทศ มูลค่าเกินกว่า 1 แสนล้านบาท จากการลงทุนโครงข่าย 1.2 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปี ๆ ละ 4 หมื่นล้านบาท และมีไฟเบอร์ออฟติก 1.3 แสนกิโลเมตร

"เหตุผลที่เรายังไม่ทำ เพราะเรายังมีเครดิตที่ดี มีเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ มากมาย ในอนาคตหากจำเป็นพิจารณาเรื่องนี้เราก็มีความพร้อม และเป็นความพร้อมที่สมบูรณ์กว่ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ การขายทรัพย์สินออก มีต้นทุนการบริหารกองทุนมากกว่า แต่กู้แบงก์ได้ถูกกว่า เราสามารถออกหุ้นกู้ได้ เรายังมีโอกาสกู้ได้มาก"นายสมชัย กล่าว

หลังจากประมูลคลื่น 900 MHz เข้ามาจะส่งผลให้ ADVANC มีจำนวนคลื่นความถี่ในมือทั้งสิ้น 40 MHz (ไม่รวมการ MOU กับ TOT)แบ่งเป็น 900 MHz (10), 1800 MHz (15) , 2100 MHz (15) ซึ่งจะสามารถให้บริการได้ทุกเทคโนโลยี 2G ,3G และ 4G โดยจะดำเนินการชำระค่าใบอนุญาตใช้คลื่น 900 MHz ในวันนี้ ซึ่งจะมีการแบ่งชำระงวดแรกราว 8,040 ล้านบาท และจะชำระจนถึงปี 63 แบ่งเป็นจำนวน 4,000 ล้านบาท (ปี 61) ,4,000 ล้านบาท (ปี 62) และ 60,000 ล้านบาท (ปี 63)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ