บมจ.ซีพีแลนด์ บริษัทในกลุ่มซีพี เปิดตัวโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ภายใต้แบรนด์"Fortune D"ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ เริ่มเปิดแห่งแรกที่แม่สอด ในส.ค.นี้ ขนาด 79 ห้อง และอีก 3 แห่งในปี 60 ขณะที่เล็งเจรจาร่วมเป็นพันธมิตรกับบมจ.ปตท.(PTT) ร่วมพัฒนาธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดในสถานีบริการน้ำมัน ประกาศตั้งงบลงทุนในธุรกิจโรงแรมปีละ 2 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีนี้ ส่วนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) เลื่อนไปปี 60 จากแผนเดิมจะเข้าตลาดฯในปีนี้
นางสาวนราวดี วรวณิชชา รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานบริหารโรงแรม และการลงทุน บมจ.ซีพีแลนด์ เปิดเผยว่า บริษัทรุกธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด ภายใต้แบรนด์ "Fortune D" เพราะเห็นช่องว่างตลาดในตลาดต่างจังหวัด รองรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ที่มีความต้องการห้องพักในโลเกชั่นดี อยู่ใกล้ใจกลางย่านธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว โดยมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ได้แก่ wifi สมาร์ททีวี
โดยบริษัทได้ลงทุนโรงแรมราคาประหยัดแห่งแรกที่แม่สอด โรงแรม Fortune D แม่สอด เปิดให้บริการ ส.ค. 59 มีจำนวน 79 ห้อง ราคาเริ่มต้น 790 บาท/คืน และแห่งที่ 2 โรงแรม Fortune D Plus เขาใหญ่ เปิดให้บริการพ.ค.60 มีจำนวน 79 ห้อง ราคาเริ่มต้น 1,200-1,400 บาท/คืน เงินลงทุน 2 แห่งรวม 680 ล้านบาท และเท่าที่สำรวจตลาดได้รับการตอบรับดีมาก นอกจากนี้ยังลงทุนต่อเนื่อง โรงแรม Fortune D เลย และ โรงแรม Fortune D บุรีรัมย์ ทั้งสองแห่งจะเปิดให้บริการปี 60 โดยมีขนาดห้อง 79 ห้อง
"เราลงทุนขนาด 79 ห้องเพราะไม่ต้องผ่านขั้นตอน EIA ซึ่งกำหนดไม่ได้ว่าจะผ่านเมื่อไร โดย Budget Hotel ขนาด 79 ห้อง ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 16 เดือน ก็ไม่ช้าไป ...เหตุผลที่มาทำ Budget Hotel เพราะเห็นว่านักท่องเที่ยว นักธุรกิจมีความต้องการโรงแรมที่มีความสะดวก ปลอดภัย มีความยืดหยุ่นการให้บริการ"นางสาวนราวดี กล่าวว่า บริษัทมีแผนลงทุนโรงแรมไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีนี้ พร้อมตั้งเป้าเปิด Budget Hotel ปีละ 5-6 แห่ง ซึ่งจะมีระยะเวลาคืนทุน 6 ปี ส่วนโรงแรมขนาดใหญ่มีระยะคืนทุนประมาณ 7-8 ปี นอกจากนี้ยังมองหาพื้นที่เพื่อลงทุน Budget Hotel ไว้หลายแห่ง เช่น ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งที่จะเข้าในพื้นที่ภูเก็ต กระบี่ พัทยา ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของไทย ทั้งขึ้นอยู่ว่าจะสามารถหาซื้อที่ดินได้หรือไม่
ปัจจุบัน บริษัทมีโรงแรมระดับ 5 ดาวในแบรนด์"ฟอร์จูน แกรนด์" ได้แก่ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน ที่กรุงเทพฯ มีขนาดกว่า 400 กว่าห้อง โรงแรมฟอร์จูน แกรนด์ นครศรีธรรมราช มูลค่าลงทุน 1 พันล้านบาท จะเปิดให้บริการอีก 2 ปีข้างหน้า , โรงแรมระดับ 4 ดาว ในแบรนด์ "ฟอร์จูน ริเวอร์วิว" เช่นที่นครพนม และ โรงแรมระดับ 3 ดาวครึ่ง ได้แก่ โรงแรมฟอร์จูนริมโขง ที่เชียงของ จ.เชียงราย รวมแล้วมีประมาณ 1,000 ห้อง และใน 3 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนห้องพักเพิ่มอีก 700-800 ห้อง
นางสาวนราวดี กล่าวว่า ซีพีแลนด์สนใจเข้าร่วมทุนทำธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมันกับ ปตท. โดยรูปแบบการร่วมทุน ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่ก็เห็นว่า โรงแรมในสถานีบริการน้ำมันไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่บริษัทเห็นว่าเป็นช่องว่างตลาด เพราะซีพีแลนด์ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มซีพีมีจุดแข็งที่มีพนักงานเกินกว่า 2 แสนคนที่เดินทางทำงานทั่วประเทศ ปตท.จะได้เครือข่ายธุรกิจของซีพี
ทั้งนี้โครงสร้างรายได้ของซีพีแลนด์ มาจากรายได้จากค่าเช่าจากอาคารธุรกิจ ที่ปัจจุบันมี 3 แห่ง ซีพีทาวเวอร์ ที่สีลม ฟอร์จูนทาวน์ และซีพีทาวเวอร์ ที่พญาไท มีสัดส่วน 70% จากเดิมอยู่ที่ 100% และมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมซึ่งเริ่มเข้ามากว่า 1 ปีแล้ว และรายได้จากการขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการคอนโดมิเนียม มีสัดส่วน 30% และมีแผนจะปรับสัดส่วนให้เท่ากับ 50:50 ภายในปี 61
ส่วนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นางสาวนราวดี กล่าวว่า ซีพีแลนด์เลื่อนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในปี 59 ไปเป็นปี 60 เพราะรองบการเงินเต็มปี 59 โดยมี บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ขณะเดียวกันคาดว่าจะออกกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริทรัพย์ (REIT) ในปี 62 ซึ่งจะนำโรงแรมเข้าไปขายเป็นทรัพย์สิน