THAI คาดร่วมทุนแอร์ฟรานซ์ทำศูนย์ซ่อมอากาศยานแล้วเสร็จต้นปี 60 เลื่อนจาก ส.ค.-ก.ย.59

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 6, 2016 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.ท.เฉลิมพล อินทรวงศื รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายช่าง บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับแอร์ฟรานซ์ลงทุนธุรกิจซ่อมอากาศยานใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในต้นปี 60 เลื่อนจากแผนเดิมที่กำหนดไว้เดือนส.ค.-ก.ย.59 เพราะต้องรอให้ที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษากฎหมายมาตีสินทรัพย์เป็นทุนในการเข้าร่วมทุนครั้งนี้

เบื้องต้นการบินไทยจะนำสินทรัพย์ที่เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ดอนเมืองเข้ามาร่วมทุน โดยเริ่มต้นลงทุนในวงเงินไม่เกิน 1 พันล้านบาท โดย THAI ถือหุ้น 51% และ แอร์ฟรานซ์ถือหุ้น 49% โดยระยะแรกจะเปิดให้บริการเครื่องบิน 2 รุ่นก่อน คือ แอร์บัส A330 และ โบอิ้ง B777 โดยพนักงานจะมาจากการบินไทยราว 100-200 คน และอาจรับพนักงานใหม่ด้วย

"ดีลจบแล้วจะเสนอบอร์ดต่อไป แต่อาจจะล่าช้าที่ต้องจ้างที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงินมมาช่วยตีราคาสินทรัพย์ที่จะใช้เป็นทุนในการร่วมทุน วงเงินลงทุนไม่ถึง 1 พันล้านบาท เราทำเล็กๆก่อนเป็นต้นแบบแล้วค่อย ๆ ขยายออกไป เพราะเป็นครั้งแรกที่เราทำเป็นธุรกิจ ส่วนคนก็กำลังทำความเข้าใจกับพนักงานโอนย้ายมา"ร.ท.เฉลิมพล กล่าว

ร.ท.เฉลิมพล กล่าวว่า การเข้าร่วมทุนกับแอร์ฟรานซ์ เพราะการบินไทยต้องการได้เทคโนโลยีจากแอร์ฟรานซ์ ขณะที่แอร์ฟรานซ์เองก็ต้องการขยายลูกค้าในเอเชีย การรุกเข้าธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานจะช่วยทำให้การบินไทยเพิ่มรายได้มากขึ้นด้วย โดยในปีแรกคาดว่ารายได้จะมีไม่มากนัก แต่ในปีต่อ ๆ ไปก็จะมีเพิ่มขึ้น เพราะการบินไทยก็มีความเชียวชาญด้านการซ่อมบำรุงและมีชื่อเสียงด้านนี้ดีอยู่แล้ว

"เรื่องร่วมทุนกับแอร์ฟรานซ์ เคยเสนอให้บอร์ดรับทราบแล้ว แล้วก็จะนำเข้าบอร์ดกลยุทธ์ "ร.ท.เฉลิมพลกล่าว

ส่วนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภานั้น รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง THAI กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเจรจากับพันธมิตรหลายราย ทั้งสายการบินสัญชาติเอเชีย ผู้ผลิตเครื่องบินอย่างแอร์บัส ผุ้ผลิตอุปกรณและอะไหล่สำหรับอากาศยาน โดยศูนย์ซ่อมดังกล่าวจะรองรับเครื่องบินตัวกว้าง ได้แก่ A380 A350 A320

เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 62 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานราว 2 ปี

"เราคุยกับหลายเจ้า เราดูว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จ เราเห็นโอกาสทำธุรกิจ เพราะดีมานด์มีอยู่มาก จากที่สายการบินต่างๆมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเราก็อยู่ใจกลาง ราคาก็เหมาะสม คุณภาพดี" ร.ท.เฉลิมพล กล่าว

ร.ท.เฉลิมพล กล่าวว่า รายละเอียดโครงการจะชัดเจนขึ้นตามแผนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Master plan) ที่จะออกมาในช่วง 2-3 เดือนนี้ โดยการบินไทยดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกครอบคลุมใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง ซึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรุงเทพฯ-ชลบุรี พัทยา-มาบตาพุด และแหลมฉบัง-นครราชสีมา รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ