ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-ตราสารหนี้ SPCG ที่ “A-" แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 7, 2016 13:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ บมจ. เอสพีซีจี (SPCG) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งประสบการณ์ของคณะผู้บริหารจากการเป็นผู้บุกเบิกในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่น่าพอใจ และแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนของประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้สูงกว่า 75% ได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA อย่างน้อยที่ระดับ 3,200-3,300 ล้านบาทต่อปี

อันดับเครดิตจะปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่ม EBITDA ได้จากการมีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หรือบริษัทได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่แข็งแกร่ง ในทางตรงข้าม ปัจจัยเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้จากประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่แย่ลงจนส่งผลต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างมีนัยสำคัญ หรือการขยายธุรกิจด้วยการก่อหนี้ในระดับสูง

SPCG ก่อตั้งในปี 2539 ในนาม บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ในปี 2554 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) แบบทางอ้อม (Reverse Listing) และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.เอสพีซีจี หลังจากนั้นบริษัทได้ย้ายการซื้อขายหลักทรัพย์จากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2555 ณ เดือนมีนาคม 2559

ครอบครัวกุญชรยาคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทในสัดส่วน 49% บริษัทมีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนส่วนใหญ่ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น 36 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมทั้งสิ้น 205.92 เมกะวัตต์ ในปี 2558 รายได้ของบริษัท 90.6% มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีก 5.1% มาจากโรงงานผลิตหลังคาเหล็ก ส่วนที่เหลืออีก 4.3% มาจากการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและอื่น ๆ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนที่บริษัทได้รับจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดำเนินงานแล้ว 36 แห่งผ่านบริษัทย่อย โดยแต่ละแห่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (หน่วย) เป็นระยะเวลา 10 ปี บริษัทมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นผลมาจากการมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่แน่นอนและความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อที่อยู่ในระดับต่ำ

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทตั้งอยู่ที่จังหวัดลพบุรี และในอีก 9 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากข้อมูลสถิติความเข้มรังสีดวงอาทิตย์พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงประสบการณ์ของคณะผู้บริหารในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย โดยบริษัทเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์รายแรกในประเทศไทย

อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของโรงไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการใช้อุปกรณ์ที่ผ่านการพิสูจน์และได้รับการรับรอง ตลอดจนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ โรงไฟฟ้าของบริษัทได้รับการติดตั้งอุปกรณ์สำคัญที่มีมาตรฐาน เช่น แผ่นเซลล์แสงอาทิตย์และเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าซึ่งบริษัทสั่งซื้อจากผู้จำหน่ายที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Kyocera Corporation (Kyocera) และ SMA Solar Technology AG (SMA) โดยผู้จำหน่ายทั้ง 2 รายรับประกันประสิทธิภาพของอุปกรณ์ระยะยาวให้แก่บริษัท

โรงไฟฟ้าแห่งแรกของบริษัทเปิดดำเนินการมามากกว่า 6 ปี ในขณะที่โครงการสุดท้ายเปิดดำเนินงานในเดือนมิถุนายน 2557 ในปี 2558 บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 16% คิดเป็น 396 ล้านหน่วยจาก 340 ล้านหน่วยในปี 2557 ทั้งนี้ เนื่องจาก เป็นปีแรกที่โรงไฟฟ้าของบริษัททั้ง 36 โครงการมีผลการดำเนินงานเต็มปี โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทมีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยที่ 78.1% ทั้งนี้ ไฟฟ้าที่ผลิตได้มีปริมาณสูงกว่าประมาณการเบื้องต้นของพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ที่ระดับความน่าจะเป็น 50 % (P50) สำหรับในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 บริษัทผลิตไฟฟ้าได้ 102 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ทั้งนี้ คาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทจะมีรายได้ประมาณ 4,000-4,500 ล้านบาทต่อปีด้วยกำลังการผลิต ณ ปัจจุบัน

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตของการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยอีกด้วยโดยเห็นได้จากการที่ภาครัฐมีนโยบายระยะยาวในการสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนที่มีให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และความต้องการใช้พลังงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ในระดับสูงของบริษัท โดยบริษัทยังคงมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับสูงที่ 63.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 แม้ว่าเงินกู้จะลดลงเหลือ 15,893 ล้านบาทก็ตาม อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดจากภาระหนี้สินในระดับสูงนี้บรรเทาลงบางส่วนจากการมีกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่แน่นอนและคาดการณ์ได้ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) สูงเพราะว่าได้รับAdder และมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำ โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทได้รับอยู่ที่ประมาณ 11 บาทต่อหน่วยและบริษัทยังมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ที่ประมาณ 85%

สำหรับกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดคะเนพลังงานไฟฟ้าที่จะผลิตได้ โดยใช้ค่าประมาณการที่ระดับความน่าจะเป็น 90% (P90) และประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 77.7% ซึ่งคาดว่าบริษัทจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 340-350 ล้านหน่วยต่อปี และคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ประมาณ 3,200-3,300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2563 และตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปคาดว่า EBITDA จะค่อย ๆ ลดลงเนื่องจากการทยอยหมดอายุของ Adder และคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2560

บริษัทยังคงหาโอกาสในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศเพื่อที่จะเพิ่มกำลังการผลิตและกระจายแหล่งรายได้ต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามเพิ่มยอดขายจากการจำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาสำหรับตลาดในประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการโครงสร้างเงินทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในช่วงขยายงานนี้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ