(เพิ่มเติม) KBANK ปรับคาดการณ์ค่าเงินบาทสิ้นปีเป็น 36.20 จากเดิม 37 บาท/ดอลลาร์มองเฟดตรึงดอกเบี้ย-ร่างรธน.ผ่าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 12, 2016 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทในปีนี้แข็งค่าขึ้นเป็น 36.20 บาท/ดอลลาร์ จากประมาณการเดิมที่ 37.00 บาท/ดอลลาร์ เป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้ อีกทั้งปัจจัยในประเทศ คือ ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น หากผลออกมารับร่างรัฐธรรมนูญก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม จะต้องจับตาเรื่องการที่ค่าเงินหยวนของจีนจะเข้าสู่การเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จากเดิมที่ธนาคารกลางจีนเป็นผู้กำหนดค่าเงินหยวนเอง ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะสร้างความผันผวนให้ค่าเงินในระยะหนึ่ง หลังจากที่ค่าเงินจีนเป็นไปตามกลไกตลาด

ส่วนกระแสเงินทุนจากต่างชาติในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเข้ามามากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการถือครองพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มเป็น 1.3 แสนล้านบาท จากต้นปีมีการถือครองอยู่ที่ 8 พันล้านบาท เนื่องจากส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตร ธปท.ยังอยู่ในระดับดีที่ 1% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.5% สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ 0.38% ส่วนต่างดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าเหมาะสม และแนวโน้มหลังจากนี้คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะยังถือครองในระดับดังกล่าวต่อไป หากเฟดยังไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ยังมองว่ายังขยายตัวได้ 3% โดยแนวโน้มจีดีพีไตรมาส 3/59 คาดว่าจะเติบโตในระดับเกือบ 3% หรือ 3% จากปัจจัยหนุนเรื่องการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยว และรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น หลังจากปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย และราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังเป็นปัจจัยที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการส่งออกของไทยปีนี้ลดลงเป็นติดลบ 2% จากเดิม 0% เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไนจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ประเด็นที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลกดดันต่อภาคการส่งออกไปยังยุโรป เนื่องจากกรณีดังกล่าวยังไม่มีความแน่นอนของข้อตกลงการที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการส่งออกต่างรอดูท่าทีของเรื่องดังกล่าว และทำให้การส่งออกไปยังยุโรปชะลอตัว

ด้านนางสาวณัฏฐริยา วิทยธนเศรษฐ์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน KBANK กล่าวว่า กรณีของ Brexit ทำให้นักลงทุนทั่วโลกประหลาดใจ เนื่องจากผลการสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการอยู่กับอียู แต่เมื่อผลประชามติของจริงออกมามีความแตกต่าง ทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงมากกว่า 10% ภายในสองสัปดาห์หลังประชามติ และดึงให้เงินยูโรอ่อนค่าลงด้วย

ทั้งนี้ ผลการลงคะแนนดังกล่าวยังสะท้อนถึงความแตกแยกทางอุดมการณ์การเมืองของประชาชนในอังกฤษ ถึงแม้ประชาชนในอังกฤษและเวลส์ต้องการแยกตัว แค่ประชาชนในสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือกลับต้องการอยู่กับอียูต่อไป ทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองของอังกฤษจึงยังเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุน

นอกจากนี้ มองว่าในระยะต่อไปอังกฤษจะมีการเลือกตั้งใหม่ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นคนนำการเจรจาเพื่อออกจากอียูอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจใช้เวลาเจรจานานกว่า 2 ปี โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประเมินว่าอังกฤษจะมีขนาดเศรษฐกิจลดลงจากนี้ไปจนถึงปี 73 แต่อัตราการหดตัวจะขึ้นอยู่กับรูปแบบข้อตกลงทางการค้า ซึ่งไม่ว่าจะออกมารูปแบบใดอังกฤษจะต้องเสียเปรียบทางการค้ากับอียูแน่นอน

สำหรับความเสี่ยงที่มาจาก Brexit จะส่งผลโดยตรงต่ออียู โดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเงิน เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องทางการเงินกับธนาคารในอังกฤษค่อนข้างสูง อีกทั้งสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระในอียูยังเร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรีซและอิตาลี ขณะที่ประชาชนในอียูเริ่มมีมุมมองลบต่ออียูเอง ทำให้ธนาคารกลางยุโรปอาจต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเอเชียอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากการค้าในเอเชียกับอังกฤษลดลงมานานแล้ว แต่ผลกระทบจะมาจากช่องทางการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (FDI) หรือการลงทุนทางการเงินมากกว่า แต่สิ่งที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ ผลกระทบต่อการส่งออกไปอียูว่าจะมีผลทางอ้อมหรือไม่

นางสาวณัฏฐริยา กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดการส่งออกไทยให้หดตัวมากขึ้นจากปัจจัย Brexit แต่ยังคงเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่จะเติบโตได้ 3% จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จะเห็นได้จากการจ้างงานที่มีการเพิ่มขึ้น และการบริโภคในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ดี

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตาม คือการเมืองในประเทศที่จะกลับมามีความสำคัญอีกครั้งในเดือนส.ค.59 เนื่องจากจะมีกำหนดให้ลงประชามติร่างรัฐมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากการกลับมาสู่การเป็นประชาธิปไตยของไทยล่าช้าออกไป ก็จะทำให้อุปสงค์ในประเทศของไทยยังมีสัดส่วนที่ต่ำ และยังต้องพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศอยู่

นอกจากนั้น ยังเป็นการเน้นย้ำว่าไทยต้องการค่าเงินบาทที่อ่อนค่า โดยศูนย์วิจัยฯคาดเงินบาทจะอ่อนค่าจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมองว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปที่ 36.00 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 3/59 ก่อนไปแตะที่ระดับ 36.20 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี 59 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องระวังไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไป เนื่องด้วยอาจทำให้ผู้ส่งออกที่เก็บเงินดอลลาร์ไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (FCD) เลือกเทขายเงินออกมา ซึ่งอาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วลงไปอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ