PTT หวั่นปีหน้าอาจยังขาดทุน NGV ต่อเนื่องจากปีนี้ หากยังรับภาระอุดหนุนรถสาธารณะ-ค่าขนส่งสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 20, 2016 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต พันธ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืน บมจ.ปตท.(PTT) คาดว่า ปีนี้บริษัทจะยังคงขาดทุนจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) จากปีที่แล้วที่มีผลขาดทุนราว 1.2 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มยังขาดทุนต่อเนื่องในปีหน้าด้วย แม้รัฐบาลจะใช้นโยบายกึ่งลอยตัวราคา NGV แล้วก็ตาม และต้นทุนเนื้อก๊าซฯ NGV ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน แต่ ปตท.ยังมีภาระขาดทุนจากการอุดหนุนราคา NGV ให้กับรถยนต์สาธารณะที่ยังตรึงราคาอยู่ที่ 10 บาท/กิโลกรัม (กก.) และรัฐบาลยังคงควบคุมค่าขนส่ง NGV อยู่บางส่วน

“ปีนี้ขาดทุน NGV น้อยลงหน่อย ขาดทุนจากเนื้อก๊าซฯไม่มาก หลัก ๆ ขาดทุนจากการอุดหนุนรถสาธารณะ ในช่วง 6 เดือนแรกขาดทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท เพราะช่วงนั้นราคายังสูง แต่เราถูกกำหนดให้ขายที่ 10 บาทสำหรับรถสาธารณะ พอราคา NGV เปลี่ยนแปลงจาก 13.50 บาทลดลงก็ใช้เงินอุดหนุนลดลง...สูตรราคา NGV ปัจจุบันก็ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ยังมีการคุมค่าขนส่งและค่าดำเนินการอยู่ ปีหน้าก็อาจจะยังขาดทุนอยู่ถ้ายังไม่ได้รับอนุมัติเรื่องนี้"นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายกึ่งลอยตัวราคาขายปลีก NGV ตามสูตรราคาที่กำหนด ขณะที่ต้นทุนเนื้อก๊าซฯ NGV ปรับลดลงตามราคาน้ำมัน ทำให้ราคาขายปลีก NGV ทยอยลดลงตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับลดลงมาอยู่ที่ 12.53 บาท/กก. จากช่วงก่อนหน้าที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ที่ระดับ 13.50 บาท/กก. โดยมองว่าราคาขายปลีก NGV ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะอยู่ในช่วง 12-12.50 บาท/กก.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังต้นทุนเนื้อก๊าซฯ เริ่มคงที่

อย่างไรก็ตาม สูตรราคา NGV ดังกล่าวรัฐบาลยังควบคุมค่าขนส่งและค่าดำเนินการไว้ระดับหนึ่ง ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการดำเนินการจริงที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าขนส่ง NGV ที่ปัจจุบันใช้รถที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันขนส่งก๊าซฯ NGV ให้กับสถานีบริการ NGV ทำให้มีต้นทุนแพงกว่าการขนส่งรถบรรทุกน้ำมันกว่า 10 เท่า ส่งผลให้ ปตท.มีผลขาดทุนจากค่าขนส่งในธุรกิจ NGV ราว 2.4 ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 876 ล้านบาท/ปี และขาดทุนจากค่าดำเนินการราว 1.4 บาท/กก.ด้วย

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลยังคงให้ปตท.รับภาระอุดหนุนราคา NGV ให้กับรถสาธารณะในระดับราคา 10 บาท/กก.นั้น ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ปตท.มีภาระขาดทุนจากการอุดหนุนรถสาธารณะราว 1.2 พันล้านบาท ขณะที่ในปีที่แล้วการอุดหนุนอยู่ในระดับ 2.7 พันล้านบาท

“แต่เดิมเราขาดทุนจากเนื้อก๊าซฯมากกว่า แต่ปัจจุบันขาดทุนราคาที่อุดหุนรถสาธารณะที่กำหนด 10 บาท ขาดทุนจากส่วนนี้ในสัดส่วนที่สูงกว่า ในช่วงครึ่งปีแรกธุรกิจ NGV ขาดทุน 2,100 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นการขาดทุนจากการอุดหนุนรถสาธารณะ 1,200 ล้านบาท และขาดทุนค่าขนส่ง เป็นอันดับสอง"นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า บริษัทยังคาดหวังว่าในอนาคตหากร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ ก็จะทำให้ ปตท.ไม่ต้องมีภาระการอุดหนุนราคา NGV ให้กับรถสาธารณะ เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ จะเป็นผู้รับภาระการอุดหนุนในส่วนนี้ รวมถึงการอุดหนุนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วย โดยปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากนั้นจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้

สำหรับนโยบายกึ่งลอยตัวราคา NGV ของรัฐบาลทำให้เอกชนสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจ NGV มากขึ้น โดยล่าสุดมีเอกชนสนใจที่จะซื้อสถานีบริการ NGV ของปตท.ด้วย แต่เป็นการเจรจาในเบื้องต้นที่ยังไม่มีข้อยุติ ปัจจุบันสถานบริการ NGV ทั่วประเทศมีทั้งหมด 502 แห่ง ในส่วนนี้เป็นการลงทุนเองโดยปตท.จำนวน 350 แห่ง ที่เหลือเป็นการลงทุนของเอกชน นโยบายต่อไป ปตท.จะพยายามจะควบคุมสถานีบริการ NGV ที่เกิดใหม่ให้อยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าขนส่งได้มาก

นายชวลิต ยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ ปตท.จะเข้าไปพัฒนาเมืองอัจริยะ (Smart City) บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยยืนยันว่า ปตท.ไม่มีแนวคิดที่จะเข้าไปลงทุนโครงการดังกล่าว เพียงแต่ได้รับมอบหมายให้ช่วยศึกษาโครงการ ซึ่งก็ได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ทำการศึกษาและนำเสนอแผนทั้งหมดต่อ ร.ฟ.ท. ซึ่งมีทั้งหมด 10 ทำเล มูลค่าลงทุนรวมกว่า 3 แสนล้านบาท รวมถึงยังช่วยประสานให้ทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เข้ามาหารือร่วมกับ ร.ฟ.ท. เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐต่อไป

ส่วนโครงการจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นเป็นงานของ ร.ฟ.ท. ซึ่ง ปตท.ไม่เกี่ยวข้อง แต่ก็พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการในบางส่วน เช่น เรื่องสาธารณูปโภค ทั้งระบบน้ำเสีย ,ไฟฟ้า เพื่อช่วยผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นได้จริง

“เราไม่เคยคิดที่จะลงทุน เราไม่ใช่ธุรกิจ property developer ถ้าเราจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ Smart City เกิดก็เอาความรู้ความชำนาญที่เรามีอยู่ไปช่วย เรามีความรู้ความชำนาญทางด้านไหน District Cooling หรือเปล่า Cogeneration District Cooling ขยายผลไปดูแลเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ Utility ก็พอได้ ส่วนการบริหารพื้นที่ต้องถามตัวเองว่าเก่งหรือไม่ ต้องประเมินตัวเองก่อน ซึ่งเราไม่เก่ง"นายชวลิต กล่าว

ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์รายงาน โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของประธานคณะกรรมการการ ร.ฟ.ท.ระบุว่า ปตท.เสนอผลการศึกษาและแผนลงทุนโครงการSmart City ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.รอบสถานีรถไฟทางคู่รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงใน 10 จังหวัด โดยสอดคล้องกับแนวคิดบอร์ดที่ต้องการหารายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟมาเสริมรายได้จากการเดินรถ มีโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วโดยเฉพาะในญี่ปุ่น ลงทุนรวม 3.63 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ