BANPU เพิ่มงบลงทุน 5 ปี(59-63) ที่ 657 ล้านเหรียญฯ ลงทุนธุรกิจไฟฟ้าเพิ่ม, "บ้านปู เพาเวอร์"เทรดQ4/59

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 16, 2016 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บ้านปู (BANPU) เพิ่มงบลงทุน 5 ปี (59-63) มาที่ราว 657 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังเพิ่มการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า หวังเพิ่มกำลังการผลิตเป็นระดับ 2,400 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 61 โดยมุ่งหากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในกลุ่มโซลาร์ฟาร์มทั้งจีนและญี่ปุ่นเป็นหลัก เพื่อสร้างกระแสเงินสดได้อย่างรวดเร็ว

พร้อมเตรียมนำ"บ้านปู เพาเวอร์"เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไตรมาส 4/59 ขณะที่ภาพรวมธุรกิจถ่านหินเป็นบวกมากขึ้นจากปริมาณถ่านหินในตลาดโลกที่ลดลง แต่ความต้องการใช้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หนุนรายได้ขายถ่านหินปีนี้ราว 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผนวกกับมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติมผลักดันให้ปีนี้พลิกมีกำไรสุทธิ

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า บริษัทได้เพิ่มงบลงทุนในช่วง 5 ปี มาที่ราว 657 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ 554 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังได้เพิ่มงบลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าอีกประมาณ 110 เมกะวัตต์ หลังได้เข้าซื้อกิจการผลิตไฟฟ้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนเป็น 2,400 เมกะวัตต์ในปี 61 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนที่ผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1,900 เมกะวัตต์

ขณะที่ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนเพิ่มเป็น 4,300 เมกะวัตต์ในปี 68 ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เงินลงทุนสำหรับเป้าหมายดังกล่าวตั้งแต่ขณะนี้จนถึงปี 68 ราว 900-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะมาจากพลังงานหมุนเวียนราว 20% หรือประมาณ 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาจากโครงการโซลาร์ฟาร์มในจีน ที่วางเป้าจะมี 300-500 เมกะวัตต์ในปี 63 จากปัจจุบันที่มีราว 100 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 200 เมกะวัตต์ ในปี 61 จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 100 เมกะวัตต์ส่วนที่เหลืออีกราว 100 เมกะวัตต์จะมาจากโครงการโซลาร์ฟาร์ม และพลังงานทดแทน จากที่อื่น ๆ ซึ่งรวมถึงในไทยด้วย โดยปัจจุบันได้เข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้รับผ่านคุณสมบัติทางเทคนิคมากกว่า 1 โครงการ

รวมถึงยังสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลในโอกาสต่อไปด้วย ตลอดจนให้ความสนใจลงทุนพลังงานหมุนเวียนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เนื่องจากสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับความคืบหน้าในการนำหุ้นบมจ.บ้านปู เพาเวอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในราวไตรมาส 4/59 ซึ่งจะนำเงินที่ได้ไปชำระคืนหนี้ให้กับ BANPU จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือก็จะเป็นเงินลงทุนต่อไป โดย BANPU จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในบ้านปู เพาเวอร์ เหลือราว 78% ขณะที่การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าตามแผนงานนั้น เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนใหม่ในอนาคต

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปีนี้บ้านปู เพาเวอร์ จะสามารถทำกำไรได้ดีกว่าปีที่แล้วที่มีกำไรประมาณ 2-3 พันล้านบาท เนื่องจากสามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าหงสา ในลาวได้เต็มทั้ง 3 ยูนิต และมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาทั้งจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น

นางสมฤดี กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะสามารถพลิกมีกำไรได้อย่างแน่นอน จากขาดทุนสุทธิ 1.53 พันล้านบาทในปีก่อน จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มเข้ามาแล้ว ในส่วนของธุรกิจถ่านหินยังมีภาพเป็นบวกมากขึ้น จากปริมาณถ่านหินที่ลดลงจากอินโดนีเซียราว 13 ล้านตัน และการส่งออกถ่านหินจากสหรัฐฯที่ลดลง 13 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ถ่านหินยังดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอินเดียที่คาดว่าจะมีการนำเข้าถ่านหินมากขึ้น เนื่องจากการผลิตถ่านหินในอินเดียยังมีคุณภาพต่ำ ทำให้ต้องการถ่านหินคุณภาพดีเข้ามาเสริมด้วย ทำให้คาดว่าราคาถ่านหินในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น

โดยบริษัทคาดว่าราคาขายเฉลี่ยถ่านหินของบริษัทในปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ระดับราว 55 เหรียญสหรัฐ/ตัน หลังมองภาพรวมราคาถ่านหินของตลาดโลกดีขึ้น ขณะที่บริษัทยังมีถ่านหินเหลืออยู่บางส่วนที่ยังไม่ได้ขายล่วงหน้าก็จะได้ประโยชน์จากราคาถ่านหินที่มีแนวโน้มดีขึ้นด้วย ทำให้คาดว่าราคาขายถ่านหินปีนี้จะอยู่ที่ราว 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยปีนี้ตั้งเป้าผลิตถ่านหินที่ระดับ 44.6 ล้านตัน และตั้งเป้าปริมาณขายถ่านหินที่ระดับ 45.4 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากเดิมเพราะต้องการปรับเป้าการผลิตให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์

นอกจากนี้บริษัทยังเดินหน้าลดต้นทุนการผลิตจากเหมืองถ่านหินอย่างต่อเนื่อง ทั้งเหมืองถ่านหินในออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งจะผลักดันให้มาร์จิ้นเพิ่มมากขึ้น ส่วนธุรกิจผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) ในสหรัฐ คาดว่าปีนี้จะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้บริษัทราว 6-7 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าสัดส่วนกำไรของบริษัทในปี 68 จะมาจากธุรกิจถ่านหิน 40-50% จากปัจจุบันที่ราว 60% และธุรกิจไฟฟ้า อยู่ที่ราว 40% เท่ากับปัจจุบัน ขณะที่จะมาจากธุรกิจอื่น เช่น shale gas และอื่น ๆ ราว 10%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ