(เพิ่มเติม) SOLAR ร่วมมือ มธ.ติดตั้งโซลาร์รูฟ 15 MW แล้วเสร็จปี 60 เล็งขยาย ตปท.ชัดเจนปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 22, 2016 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. โซลาร์ตรอน (SOLAR) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการติตดั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขนาด 15 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 60 โดยเบื้องต้นในปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดรวม 6 เมกะวัตต์

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SOLAR กล่าวว่า บริษัทฯได้รับงานโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (โครงการโซลาร์รูฟ) กำลังการผลิตรวม 15 เมกะวัตต์ โดยภายในปี 59 จะติดตั้งโซลาร์รูฟที่ผลิตไฟฟ้าได้ 6 เมกะวัตต์ และในปี 60 จะติดตั้งได้อีก 9 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้มีการติดตั้งไปแล้ว 1.7 เมกะวัตต์

โครงการดังกล่าว มีมูลค่าการลงทุน 800 ล้านบาท คาดจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 7 ปี จากระยะสัญญาทั้งหมด 21 ปีโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไฟฟ้าต่อปีได้ราว 30-40% จากปัจจุบันมีภาระค่าไฟฟ้าประมาณ 3 ล้านบาทต่อปี และจะสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 5 บาทต่อหน่วย โดยมหาวิทยาลัยมีการใช้กระแสไฟฟ้าราว 7.5 หมื่นหน่วยต่อวัน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯปีละ 136 ล้านบาท

"การลงทุนดังกล่าว เราเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยบริษัทจะมีรายได้มาจากการขายไฟฟ้าให้แก่มหาวิทยาลัย ซึ่งการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟทดแทนในช่วงเวลาดังกล่าวจะช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 30-40% ต่อปี ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัย ยังมีโครงการที่อยากจะลดต้นทุนต่อเนื่องไปยังวิทยาเขตอื่นๆ ของธรรมศาสตร์ ซึ่งก็น่าจะส่งผลดีต่อบริษัทในอนาคต"นางปัทมา กล่าว

นอกจากนี้บริษัทฯยังมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆอีก รวมถึงยังมองการขยายไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีนโยบายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ และมีกำลังการใช้ไฟฟ้าสูง คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปี 60

นางปัทมา กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินในปีนี้คาดจะกลับมามีกำไรสุทธิได้ จากไตรมาสแรกมีกำไรแล้ว 13.30 ล้านบาท และรายได้น่าจะเติบโตมากกว่า 1,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 696.79 ล้านบาท โดยจะมาจากงานการติดตั้ง รับเหมา ก่อสร้างโซลาร์รูฟ เป็นหลัก

ขณะที่ในปี 60 คาดว่ารายได้และกำไรสุทธิจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังจากเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม และธุรกิจโซลาร์รูฟ รวมถึงเตรียมขยายธุรกิจสู่ธุรกิจระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) โดยธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม โครงการโซลาร์ฟาร์ม สหกรณ์ภาคการเกษตรกำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ คาดจะจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในสิ้นปีนี้ และจะรับรู้รายได้เข้ามาในปีหน้าเป็นต้นปี

อีกทั้งบริษัทจะเข้าประมูลงานโซลาร์ฟาร์มภาครัฐอีกจำนวน 519 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์มภาครัฐ 400 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตร 119 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการฟีดเดอร์ของภาครัฐ

ส่วนธุรกิจโซลาร์รูฟ บริษัทฯตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปเป็น 50% ในปี 61 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้ราว 25% หลังจากเมื่อวันที่ 9 ส.ค.59 รัฐบาลประกาศให้ภาคเอกชนสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟได้อย่างเสรี ซึ่งมองว่าจากนี้จะเห็นการลงทุนในส่วนของโซลาร์รูฟมากขึ้น

พร้อมกันนี้เตรียมรุกธุรกิจ ระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) โดยจะเข้าไปติดตั้งระบบให้กับโรงไฟฟ้า SPP ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 90 เมกะวัตต์ ซึ่งตามที่รัฐบาลได้ออกมากำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าลงทุนในเทคโนโลยี Energy Storage เพื่อป้องกันไฟดับไฟตก และขยายไปในด้านการติดตั้งระบบ Energy Storage รองรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicle) ที่ในอนาคตจะเริ่มมีการใช้งานมากขึ้น ซึ่งธุรกิจดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานในปีหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า โครงการโซลาร์รูฟมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1. เพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ตอบสนองนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน (Sustainable university) 2. ติดตั้งระบบไฟฟ้าด้วย Solar roof เพื่อประหยัดพลังงานการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน เป็นมหาวิทยาลัยนำร่องตัวอย่างในการตอบสนองนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล 3. เพื่อสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างในระดับนานาชาติที่มี Solar roof ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซีย และ 4. สร้างจิตสำนึกให้กับนักศึกษาในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)

“แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้น ถูกติดตั้งกระจายอยู่บนหลังคาอาคารต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยในปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดรวม 6 เมกะวัตต์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการติดตั้ง Solar roof ในมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและจะทำให้มหาวิทยาลัยประหยัดไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 50% และลดการพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลง ตอบสนองการเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน" อธิการบดี มธ.กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ