FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์"ร้อนแรง"รับ Fund Flow หนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 5, 2016 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.ย.59 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.22% ดันให้ดัชนีอยู่ในระดับร้อนแรง (Bullish) โดยมีปัจจัยจากการไหลของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ เป็นตัวดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจส่งผลต่อกระแสเงินทุนโดยรวมของตลาดเกิดใหม่

ทั้งนี้ ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือน พ.ย.59) อยู่ที่ 140.68 อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง" (Bullish) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0 - 200) ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 9.22% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 128.81 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนทุกกลุ่มอยู่ในระดับร้อนแรง โดยดัชนีนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 18.43% ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลุ่มอื่นปรับตัวลดลงเล็กน้อย

สำหรับหมวดอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมากที่สุด คือ ธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด ส่วนปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าออกของเงินทุน ในขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)

นางวรรวรรณ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาด้วยเม็ดเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ทำให้มีการเติบโตอย่างโดดเด่นที่สุดในภูมิภาค แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ความไม่แน่นอนภายหลังการลงประชามติ (Brexit) ปัญหาทางการเงินในยุโรป ซึ่งส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนที่จะผันผวนมากขึ้น ตลอดจนผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐ แต่การส่งออกยังคงหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด

ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) มองว่าปัจจัยสำคัญในช่วงที่เหลือของปีคือ ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯจากเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย.และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตอนปลายปี ขณะที่ธนาคารกลางหลักอื่น ๆ รวมถึง ธปท. ยังจะต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจต่อ

สำหรับในปี 60 แม้เศรษฐกิจยุโรปมีประเด็นความไม่แน่นอนด้านการเมืองในอียูเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเครื่องจักรสำคัญของไทยยังคงเป็นการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีโอกาสฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นหลังสถานการณ์เมืองมีเสถียรภาพและการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปี 60 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มปรับขึ้นเป็น 1.75% ในช่วงปลายปี 60 โดยเงินบาทอาจยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อในปีหน้าหากเฟดไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ตามที่สื่อความไว้ก่อนหน้านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ