ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้มีการค้ำประกัน และแนวโน้ม GLOW ที่ “A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 15, 2016 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและมีที่ตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมได้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ดีและสร้างกระแสเงินสดได้ตามที่วางแผนไว้อีกด้วย

อันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับขึ้นได้หากฐานกระแสเงินสดหรือสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงข้าม อันดับเครดิต และ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าลดลงต่ำกว่าแผนอย่างมีนัยสำคัญ หรือบริษัทมีการซื้อกิจการหรือมีการลงทุนที่ใช้เงินกู้เป็นจำนวนมากจนทำให้สถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างชัดเจน

GLOW เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนชั้นนำในประเทศไทย โดยบริษัทประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านเทคนิคและการปฏิบัติการจาก ENGIE ซึ่งเป็นผู้ให้บริการพลังงานชั้นนำที่มีโครงข่ายบริการทั่วโลกโดยเฉพาะในทวีปยุโรป ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังคงเป็น ENGIE โดยถือหุ้นอยู่ประมาณ 69% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ณ เดือนมิถุนายน 2559 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 3,207 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้า IPP จำนวน 1,525 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม จำนวน 1,682 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า IPP ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาดกำลังการผลิต 713 เมกะวัตต์ในจังหวัดชลบุรี โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์ในจังหวัดระยอง และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดกำลังการผลิต 152 เมกะวัตต์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ของบริษัทให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นหลัก

จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์ทั้งสิ้นจำนวน 3,207 เมกะวัตต์ บริษัทได้ทำสัญญา PPA หลายฉบับเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 2,345 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. ส่วนปริมาณไฟฟ้าที่เหลือและกำลังการผลิตไอน้ำนั้น บริษัทจำหน่ายให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว ทั้งนี้ การจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญาดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนสำหรับบริษัท ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในสัดส่วนประมาณ 61% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 26% ส่วนรายได้ที่เหลือมาจากการจำหน่ายไอน้ำและน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม

ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงราบรื่นมั่นคง โดยระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ฟื้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 96.5% ซึ่งเหนือกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 95% ในขณะที่ระดับความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า IPP อยู่ต่ำกว่า 90% ในปี 2558 และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 เนื่องจากโรงไฟฟ้าของ บริษัท โกลว์ ไอพีพี จำกัด (GIPP) มีการหยุดเดินเครื่องเพื่อตรวจสอบครั้งใหญ่ตามแผนเป็นเวลาประมาณ 95 วันในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2558 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ในขณะที่โรงไฟฟ้าของ บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด (GHECO-One) ก็มีหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เช่นกัน

สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 10,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน เงินทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 8,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากความต้องการของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงแข็งแกร่ง ตลอดจนการมีส่วนต่างราคาก๊าซที่กว้างขึ้น และการไม่มีแผนซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้า GHECO-One เหมือนในปีที่ผ่านมา สภาพคล่องของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากภาระหนี้ลดลง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 31% จาก 28.8% ในปี 2558 และอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้นเป็น 7.8 เท่า จาก 5.7 เท่าในปี 2558

บริษัทมีสัญญา PPA 2 ฉบับภายใต้โครงการ SPP ที่กำลังจะสิ้นสุดอายุในปี 2560 โดยมีกำลังการผลิตในสัญญารวมทั้งสิ้น 180 เมกะวัตต์ จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติล่าสุด บริษัทได้รับอนุญาตให้ต่ออายุสัญญา PPA ที่กำลังจะหมดลงดังกล่าวได้อีก 3 ปี โดยค่าไฟฟ้าที่บริษัทจะได้รับนั้นจะคลอบคลุมรายได้จากค่าเชื้อเพลิง (Energy Payment) เป็นหลัก นอกจากนี้ สัญญาใหม่จะรับซื้อกำลังการผลิตได้ไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ต่อสัญญาจากสัญญาเดิมที่บริษัทได้รับที่ 90 เมกะวัตต์ต่อสัญญา ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตรวมในสัญญาใหม่ลดลงเหลือ 120 เมกะวัตต์ในช่วงระหว่างปี 2560 ถึงปี 2563 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่า ผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาที่จะมีต่อสภานะเครดิตของบริษัทนั้นมีจำกัดในช่วงระยะสั้นถึงระยะกลาง ทั้งนี้ กำลังการผลิตในสัญญาที่ลดลง 60 เมกะวัตต์นั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดของบริษัท โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ EBITDA ของบริษัทประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในปี 2558 นั้น บริษัทมี EBITDA เท่ากับ 18,845 ล้านบาท

หากมองไปข้างหน้า คาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีความแน่นอนได้ในอนาคต จากประมาณการณ์ขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะค่อย ๆ ถดถอยลงจากการลดลงของค่าความพร้อมจ่าย (Available Payment Rate) ของ GIPP ตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและกำลังการผลิตในสัญญาที่ลดลงจากการสิ้นสุดอายุสัญญาของโครงการ SPP อย่างไรก็ตาม เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในช่วงระหว่าง 13,000-15,000 ล้านบาทต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนก็คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังไม่มีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวนมากในระยะสั้นนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัทยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ จากเหตุผลดังกล่าวจึงคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจจะเพิ่มสัดส่วนการจ่ายปันผลอีกครั้งในปีนี้ แต่ก็คาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 50% เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 30%-40% และ EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ระหว่าง 7-8 เท่าในอีก 3 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ