กกพ.คาดเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตฯพรุ่งนี้คึกคัก หนุนมูลค่าลงทุนกว่า 4 พันลบ.,พิจารณาเลือกตามลำดับก่อน-หลัง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 21, 2016 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมที่จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ย.) เป็นวันแรกนั้น จะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนมาก หลังมีผู้มายื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมากถึง 90 ราย ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมครั้งนี้มีเพียง 50 เมกะวัตต์เท่านั้น โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์/ราย ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท

สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกจะพิจารณาตามเรียงตามลำดับของโครงการที่ยื่นเสนอเข้ามาก่อน ทำให้คาดว่าการเปิดรับยื่นข้อเสนอในวันพรุ่งนี้เป็นวันแรกนั้น จะมีผู้สนใจเข้ามารอยื่นข้อเสนอจำนวนมากตั้งแต่ช่วงเช้าก่อนเปิดรับเอกสารในเวลา 9.00 น. ดังนั้น ก็จะมีการจับสลากเพื่อเรียงลำดับคิวในการคัดเลือกให้เป็นผู้ยื่นข้อเสนอโครงการต่อไป

"การคัดเลือกจะเป็นแบบ First Come First Serve เพราะไม่ได้เป็นการ Bidding เหมือนโรงไฟฟ้าชีวมวลรอบที่แล้ว เราคาดว่าพรุ่งนี้จะมีผู้ที่สนใจมารอยื่นเอกสารตั้งแต่ก่อนเปิดรับให้ยื่นข้อเสนอในเวลา 9.00 น.เราก็จะใช้วิธีการจับสลากว่าใครได้เบอร์ 1 ก็รอที่จะยื่นเอกสารข้อเสนอตามลำดับต่อไป ดังนั้น เรื่องลำดับก่อนหลังจึงเป็นเรื่องสำคัญ"นายวีระพล กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

เมื่อวานนี้ สำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศเรื่องขั้นตอนการรับคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าจากการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษ จากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558-2562 โดยจะเปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าระหว่างวันที่ 22-28 ก.ย. เวลา 9.00-15.30 น. ในกรณีที่ผู้มายื่นเอกสารก่อนเวลา 9.00 น.หลายรายจะถือว่ามาพร้อมกัน ซึ่งจะต้องลงทะเบียนเพื่อจับสลากลำดับก่อน-หลังในการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าต่อไป นายวีระพล กล่าวว่า คณะกรรมการกกพ.จะพิจารณาโครงการตามลำดับการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า โดยจะพิจารณาว่าเอกสารที่ยื่นมานั้นครบถ้วนและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ มีผู้สนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และมีปริมาณขยะอุตสาหกรรมเพียงพอที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นได้อนุญาตให้มีการนำขยะอุตสาหกรรมนอกพื้นที่เข้ามาใช้ได้ด้วย ตลอดจนต้องมีใบรับรองจาก 11 นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าด้วยว่าโครงการดังกล่าวสามารถจัดตั้งได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่าเกณฑ์ที่แต่ละนิคมฯกำหนด และหากโครงการใดได้รับอนุมัติ ก็จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เรียบร้อยด้วยก่อนจะดำเนินการต่อไป

สำหรับการลงทุนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ตามปริมาณที่รับซื้อทั้งหมด 50 เมกะวัตต์ หากใช้เทคโนโลยีมาตรฐานปกติคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 70-80 ล้านบาท/เมกะวัตต์ แต่หากใช้เทคโนโลยีพลาสมา ซึ่งเป็นการเผากากอุตสาหกรรมที่มีอุณหภูมิกว่า 1,000 องศานั้น อาจจะใช้เงินลงทุนสูงถึง 100 ล้านบาท/เมกะวัตต์

ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กกพ.ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม โดยให้ผู้ที่สนใจตรวจสอบจุดเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในช่วงวันที่ 9-19 ส.ค.59 และให้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในวันที่ 22-28 ก.ย.59 ขณะที่จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ในวันที่ 28 ต.ค.59 และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในวันที่ 25 ก.พ.60 เพื่อที่จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.62

พร้อมกับออกประกาศแนบท้าย เกี่ยวกับรายชื่อนิคมฯที่สามารถจัดตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมได้ตามรายงานของ EIA และมีระบบไฟฟ้ารองรับการเชื่อมต่อกับนิคมฯ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ,นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง/ปิ่นทอง (แหลมฉบัง)/ปิ่นทอง (โครงการ 3) ,นิคมอุตสาหกรรมผาแดง ,นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า ,นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี , นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี ,นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ,นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ,นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ขณะที่บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าการรับซื้อโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมครั้งนี้ มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ที่สนใจดำเนินการจำนวนมาก เช่น บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) ,บมจ.อัคคีปราการ (AKP),บมจ. บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO), บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) , บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA),บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) และบมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) เป็นต้น ด้านนายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ PSTC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทไม่ได้เข้ายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในครั้งนี้ด้วยตัวเอง แต่ได้เจรจากับพันธมิตรนอกตลาด ที่จะเป็นผู้เข้ายื่นข้อเสนอขอขายไฟไว้แล้ว โดยมีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งหากพันธมิตรได้ใบอนุญาตขายไฟฟ้า บริษัทก็จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49-51%

"หากพันธมิตรได้ ก็จะเห็นเราทำโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแน่นอน ซึ่งพันธมิตรของเราค่อนข้างมีความชำนาญด้านนี้เนื่องจากเขาทำโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และรับคัดแยกขยะอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ขอถือหุ้นในสัดส่วน 49-51%"นายพระนาย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ