โบรกฯ แนะ"ซื้อ"JMART มองโตต่อเนื่องรับแรงหนุนธุรกิจตามหนี้-ปล่อยสินเชื่อ,JMT สำรองหนี้ฯลดลงหนุนกำไร

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 22, 2016 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์เชียร์ซื้อหุ้น บมจ.เจ มาร์ท (JMART) จากแนวโน้มผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจติดตามหนี้ และธุรกิจการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างโดดเด่น รวมทั้งการที่ JMT เปลี่ยนนโยบายการบันทึกค่าตัดจำหน่าย (amortization) จาก 5 ปี เป็น 10 ปี จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง รวมถึงมีแผนจะปรับโครงสร้างการถือหุ้นใน JMT Plus ไปอยู่ภายใต้การถือหุ้นใหญ่โดย JMART จะช่วยปลดล็อคกำไรของ JMT ด้วย

ด้านธุรกิจจำหน่ายมือถือของ JMART ก็มีการออกแคมเปญผ่อนยาว และขยายช่องทางการจำหน่ายผ่าน SINGER ในปีนี้ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งเท่าที่ผ่านมาก็มีผลตอบรับที่ดี คาดว่ายอดขายเครื่องโทรศัพท์มือถือในปีนี้และปีหน้าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการขยายธุรกิจมาขายกล้องถ่ายรูปถือว่ามีมาร์จิ้นสูงจะส่งผลดีต่อตัวกำไรอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่มองราคาหุ้นยังถูกเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มพาณิชย์ด้วยกัน

ราคาหุ้น JMART ช่วงบ่ายอยู่ที่ 12.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท (+2.46%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 0.83%

          โบรกเกอร์                       คำแนะนำ                   ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
          กรุงศรี                          ซื้อ                              14.00
          เอเซีย พลัส                      ซื้อ                              16.80
          เคทีบี (ประเทศไทย)               ซื้อ                              16.00

นายวรพงศ์ ตันติวุฒิพงศ์ นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี กล่าวว่า ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อจะเป็น upside สำหรับ JMART นอกเหนือจากกำไรธุรกิจเดิมมียังมีแนวโน้มเติบโตดี จะช่วยผลักดันกำไรของบริษัทให้เติบโตเฉลี่ย 17% ต่อปี ในช่วงปี 58-61

ธุรกิจของ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเร่งรัดติดตามหนี้และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ นับว่าเป็นดาวเด่นที่ได้แรงหนุนจากแผนการปรับโครงสร้างของกลุ่ม โดย JMART จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท เจ เอ็ม ที พลัส จำกัด (JMT Plus) เป็น 90.1% จากปัจจุบันที่ JMT ถืออยู่ 99.9% จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ JMT ใน JMT Plus ลดลงเหลือราว 9% ช่วยปลดล็อคกำไรของ JMT ในปีนี้ และคาดว่า JMT Plus จะพลิกฟื้นกำไรได้ในไตรมาส 1/60 จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นตามฐานเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน JMT ก็เปลี่ยนวิธีการบันทึก amortization ในปีนี้ โดยจะทยอยตัด amortization เป็นเวลา 10 ปี แทนที่จะเป็น 5 ปีแบบเดิม ซึ่งจะทำให้สำรองหนี้เสียที่เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง จึงคาดว่ากำไรสุทธิของ JMT จะโตถึง 74% เป็น 142 ล้านบาทในปี 60 และเติบโตอีก 28% เป็น 183 ล้านบาทในปี 61 จากเกณฑ์การบันทึกบัญชีแบบใหม่ และพอร์ตหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.50 แสนล้านบาทในปี 61 แต่เชื่อว่า JMT จะได้ประโยชน์อย่างมาก จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการที่เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า

สำหรับธุรกิจของ JMART คาดว่ายอดขายเครื่องโทรศัพท์มือถือดีขึ้นหลังจากที่ในปีที่แล้วถูกกระทบจากการอุดหนุนค่าเครื่องอย่างดุเดือดของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อดึงให้ลูกค้าเปลี่ยนระบบจาก 2G มาเป็น 3G โดยมองว่าผู้ให้บริการฯไม่มีแผนจะทำแบบนั้นอีกแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทก็เพิ่งเริ่มแคมเปญผ่อนยาว และขยายช่องทางการจำหน่ายผ่าน บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ในปีนี้เพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งเท่าที่ผ่านมาก็มีผลตอบรับที่ดี ทั้งนี้ คาดว่ายอดขายเครื่องโทรศัพท์มือถือในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 5.5% เป็น 9.2 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้นอีก 9.4% เป็น 1 หมื่นล้านบาทในปี 60

"มองว่ายังมีประเด็นที่หนุนการเติบโตอีกหลายเรื่อง ซึ่งจะเป็น upside โดยเราคาดว่ากำไรสุทธิของ JMART จะโตเฉลี่ย 17% ต่อปี ในช่วงปี 58-61 จากแนวโน้มที่ดีขึ้นของธุรกิจขายเครื่องโทรมือถือ และแนวโน้มการเติบโตอย่างโดดเด่นของธุรกิจการติดตามหนี้ อีกทั้งบริษัทยังมีโอกาสเติบโตได้อีกตามธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ ประกอบกับเรามองว่าราคาหุ้นยังถูก เมื่อเทียบกับหุ้นอื่นในกลุ่มการพาณิชย์ ซึ่งมี P/E ปี 60 เฉลี่ยอยู่ที่ 24 เท่า และของ COM7 ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงของบริษัทซึ่งอยู่ที่ 21 เท่า"นายวรพงศ์ กล่าว

บทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุเพิ่มเติมว่าการที่ JMT Plus จะเพิ่มทุนแล้วทาง JMT จะไม่ใช้สิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนนั้น แต่จะให้ JMART เข้ามาถือหุ้นแทนนั้น ก็จะทำให้ JMT ได้เงินที่ JMT Plus กู้ยืมคืนมาเป็นฐานในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพต่อไป และอาจมีการกลับรายการรับรู้ขาดทุนจาก JMT Plus ในช่วงที่ผ่านมา หนุนกำไรในไตรมาส 4/59 ของ JMT ได้ โดยมีมุมมองเป็นบวกต่อการที่ JMT จะกลับมาโฟกัสในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำกำไร

ด้านนักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ธุรกิจบริหารหนี้และให้สินเชื่อจะขึ้นมาเป็นพลังขับเคลื่อนต่อ JAMART หนุนให้กำไรช่วงปี 59-60 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 18% สะท้อนธุรกิจมือถือที่ทำได้ดีกว่าคาด และการปรับวิธีรับรู้รายได้ JMT รวมถึงผลจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ JMT Plus ไปอยู่ภายใต้การถือหุ้นใหญ่โดย JMART ตั้งแต่ปี 60

ส่วนในปีนี้คาดกำไรของ JMART จะอยู่ที่ 440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5% และจะเติบโตอีก 18.2% ในปีหน้า จากการขยายตัวของ JMT และ JMT Plus เป็นหลัก พร้อมกันนี้คาดว่ากำไรในไตรมาส 3/59 จะยังทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยธุรกิจหลักมือถืออาจอ่อนตัว เนื่องจากเป็นไตรมาสสุดท้ายก่อน iPhone รุ่นใหม่เปิดตัว แต่น่าจะชดเชยได้จากกำไรของ JMT รายได้จากบริหารหนี้คาดจะสูงขึ้น และ JMT Plus ที่จะตั้งสำรองหนี้ลดลง โดยในงวดไตรมาส 4/59 คาดว่ากำไรจะเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับทุกไตรมาส เป็นไปตามฤดูกาลของธุรกิจขายมือถือ อีกทั้งยังจะเป็นไตรมาสแรกที่มีเริ่มขาย iPhone ใหม่

นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คาดว่า JMART จะมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องในปีนี้ จากการบันทึกสำรองหนี้สูญลดลงหลัง JMT ปรับ Amortization จาก 5 ปี เป็น 10 ปี และการที่ JMART เริ่มขยายไปยังธุรกิจกล้องถ่ายรูป ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ส่งผลให้กำไรสุทธิน่าจะเติบโตอยู่ที่ 425 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 31.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน

JMART เริ่มขยายมายังธุรกิจกล้องถ่ายรูปอย่างจริงจัง ปัจจุบันจำนวนสาขาที่มีการจำหน่ายกล้องถ่ายรูปมีเพียง 30 สาขา และตั้งเป้าขยายสาขาที่มีการจำหน่ายกล้องถ่ายรูปให้เป็น 90 สาขาภายในปี 60 ซึ่งจะเสริมรายได้ให้เติบโตถึง 1-1.5 พันล้านบาท การเติบโตจะเป็นในลักษณะของการแย่งส่วนแบ่งตลาดจากรายใหญ่และการเติบโตของอุตสาหกรรมจากกล้อง mirrorless จึงมองธุรกิจกล้องมีจุดเด่นด้านมาร์จิ้นที่สูง ประมาณ 20% และ JMART มี JMT Plus ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อกล้อง ซึ่งสามารถพ่วงโปรโมชั่นกล้องกับมือถือได้อีกด้วย

อีกทั้งยังมอง JMT สามารถเติบโตได้ดีจากปัจจัยหนุน จากการเปลี่ยนนโยบายการบันทึก amortization จาก 5 ปี เป็น 10 ปี ,การฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและการจ่ายคืนหนี้จะมีมากขึ้นในท้ายที่สุด และ JMT ตั้งเป้าการซื้อมูลค่าหนี้สูงถึง 2 แสนล้านบาทภายในปี 63 คาดว่าจะเติบโตปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ