ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 8.1 พันลบ.ของ KTC ที่ระดับ “A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 3, 2016 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 8,100 ล้านบาทอายุ 10 ปีของ บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) ที่ระดับ “A+" ในขณะเดียวกันยังยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ การจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นการทดแทนวงเงินคงเหลือของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 16,000 ล้านบาท (ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทอายุไม่เกิน 5 ปี และในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทอายุไม่เกิน 10 ปี) ตามที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทมีความประสงค์จะแก้ไขอายุหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจากไม่เกิน 5 ปี เป็นอายุไม่เกิน 10 ปีทั้งหมด

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการปรับยกระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของ KTC จากสถานะการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเองก็ได้รับการสนับสนุนจากผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างปี 2555-มิถุนายน 2559 ซึ่งส่งผลทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่ออุปโภคและบริโภคท่ามกลางภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพเครดิตและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ได้ภายใต้มาตรฐานการจัดเก็บและติดตามหนี้สินและการปล่อยสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งรักษาอัตราส่วนโครงสร้างเงินทุน ณ ระดับปัจจุบันเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าธนาคารกรุงไทยจะยังคงให้การสนับสนุนบริษัททั้งในด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากเกิดปัจจัยที่จะกระทบต่อธุรกิจและผลประกอบการทางการเงินโดยรวมของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เช่น คุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง รวมถึงระดับของการให้การสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยหรือสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงไทยเปลี่ยนแปลงไป

KTB เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTC ในสัดส่วน 49.45% โดยบริษัทได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ กล่าวคือ การเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มธนาคารกรุงไทยทำให้บริษัทมีความร่วมมือด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สอดคล้องกับเครือธนาคารกรุงไทย โดยบริษัทยังคงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการขยายฐานลูกค้า รวมถึงเป็นช่องทางการชำระเงินและให้บริการด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนอย่างต่อเนื่องจากธนาคารอีกด้วย การสนับสนุนดังกล่าวช่วยเสริมสร้างสถานะที่สำคัญของบริษัทภายในเครือธนาคารกรุงไทยซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นที่บริษัทจะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากธนาคารกรุงไทยเมื่อบริษัทร้องขอ

หลังจากวิกฤติอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 บริษัทได้ตัดสินใจโอนงานจัดเก็บและติดตามหนี้สินกลับมาบริหารเองทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและติดตามหนี้สินตั้งแต่ก่อนที่หนี้ปกติจะกลายเป็นหนี้เสียด้วย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บและติดตามหนี้สินดีขึ้นอย่างต่อเนื่องดังเห็นได้จากสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมที่ลดลง (อัตราสินเชื่อค้างชำระ) ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

บริษัทรายงานอัตราสินเชื่อค้างชำระของบัตรเครดิตที่ระดับ 1.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 3.1% สินเชื่อส่วนบุคคลก็มีอัตราสินเชื่อค้างชำระของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ระดับ 1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 3.2%

แม้ว่าอัตราสินเชื่อค้างชำระจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่อัตราหนี้สูญตัดบัญชีของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นจาก 7.4% ในปี 2555 มาเป็น 9.2% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2559 ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อค้างชำระที่เพิ่มขึ้นจาก 195% ณ สิ้นปี 2555 มาเป็น 439% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 บริษัทได้เพิ่มค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้สูงขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

ในเดือนพฤษภาคม 2558 บริษัทได้ตัดสินใจมอบหมายให้ บริษัท วินเพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายนอกเป็นตัวแทนติดตามหนี้สินที่ค้างชำระทั้งหมด บริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 39.8% สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2559 จาก 37.5% ในปี 2557 และ 39.5% ในปี 2558 แม้ว่าการจัดเก็บหนี้สินจะไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทภายนอกที่เป็นตัวแทนติดตามหนี้สินจะสามารถบรรลุอัตราการจัดเก็บหนี้สินในระดับสูง ขณะที่รักษาคุณภาพสูงในการให้บริการและมีระดับต้นทุนที่ควบคุมได้

บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการมุ่งเน้นด้านการตลาดเชิงรุกและการควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้รายได้ในปี 2556 เริ่มกลับมาเติบโตหลังจากที่ค่อนข้างนิ่งมาตั้งแต่ปี 2551 โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ (หลังหักรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุน) ในปี 2556 อยู่ที่ 1,037 ล้านบาท เทียบกับ 255 ล้านบาทในปี 2555 บริษัทมีกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ โดยรายงานผลกำไร 1,755 ล้านบาทในปี 2557 และ 2,073 ล้านบาทในปี 2558

บริษัทมีผลกำไรเท่ากับ 1,215 ล้านบาทสำหรับครึ่งแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับครึ่งแรกของปี 2559 จาก 2.1% ในปี 2556 (หลังหักรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุน) นอกจากนี้ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีขึ้นตลอดจนนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังของบริษัทน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับกำไรนี้ต่อไปได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตามระเบียบของ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2558 บริษัทได้ปรับลดค่าทวงถามหนี้จาก 250 บาทลงเหลือ 100 บาทเมื่อปลายปี 2558 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทได้ในอนาคต

จากการที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายประกอบกับการสนับสนุนทางการเงินที่ได้รับจาก KTB จึงทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นมิได้เป็นประเด็นที่น่าห่วงมากนัก กล่าวคือ บริษัทมีเงินทุนที่ใช้สนับสนุนสภาพคล่องจากเงินกู้ที่ได้จากสถาบันการเงินหลายแห่งและจากหุ้นกู้ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยไม่มียอดเงินกู้จากสถาบันการเงินใดที่มีสัดส่วนสูงมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับยอดเงินกู้โดยรวม บริษัทใช้การกู้ยืมและการออกตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนหลัก ส่วนคู่แข่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าจากการมีฐานเงินฝากเป็นแหล่งเงินทุน อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของบริษัทเมื่อประกอบกับอัตราดอกเบี้ยตลาดที่มีแนวโน้มลดลงในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลให้ต้นทุนในการระดมทุนของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 5% ในปี 2555 เหลือ 3.3% (ปรับอัตรส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2559

ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2555-มิถุนายน 2559 ส่งผลให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้เหลือ 5.6 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 หากบริษัทคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลและการลงทุนในอนาคตที่ระมัดระวัง ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับนี้ได้ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แผนการขยายปริมาณสินเชื่ออาจทำให้บริษัทมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นและจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ